ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ของจีนยังคงตามหลังสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนบางส่วนยังคงใส่เงินลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีของจีน โดยคาดหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นมาเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินควบคู่กันไปด้วย ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ไปให้บริษัทจีน กดดันรายได้ของทั้งบริษัทสหรัฐฯ และจีนทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- บริษัทเทคฯ ชั้นนำระดับโลกมุ่งลงทุนในเวียดนาม หลังจีนไร้วี่แววคลายนโยบาย Zero-COVID
ช่องว่างที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital) หลายรายมองเป็นโอกาสที่สตาร์ทอัพของจีนจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ อย่างกรณีของ Vertex Ventures China ได้ระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพเหล่านี้ โดยสามารถระดมทุนได้เกือบ 500 ล้านดอลลาร์ มากกว่าแผนที่วางไว้ 400 ล้านดอลลาร์
Tay Choon Chong หุ้นส่วนผู้จัดการของ Vertex กล่าวว่า “ดิสรัปชันที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในจีนเวลานี้คือการที่ชาติตะวันตกจะไม่ส่งออกเทคโนโลยีให้จีน ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของเรา”
บริษัทผู้ผลิตชิปของจีนมีโอกาสที่จะเติบโตสู่กว่า 10% ต่อปี ด้วยมูลค่าที่ยังอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ขณะที่จีนนำเข้าชิปคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
โดยชิปที่มีโอกาสจะเติบโตสูง ได้แก่ ชิปสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการรับสัญญาณของโทรศัพท์ หรือชิปสำหรับควบคุมรถยนต์
Bo Du กรรมการผู้จัดการของ WestSummit Capital Management กล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัทในการลงทุนยังคงเหมือนเดิมแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการควบคุมใหม่ออกมา โดยบริษัทยังคงเน้นลงทุนในบริษัทผู้ผลิตชิปที่ผลิตให้กับอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว ซึ่งชิป 79% ของทั่วโลก ผลิตให้กับสินค้าเหล่านี้
ทั้งนี้ จีนเป็นผู้ที่ต้องการใช้ชิปประมาณ 40% ของชิปทั่วโลกในแต่ละปี จากข้อมูลของ Natixis อย่างไรก็ตาม บริษัทจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงประมาณ 5.2%
อย่างไรก็ตาม Patrick Chen หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ CLSA ในไต้หวัน กล่าวว่า หากจีนจะเริ่มพัฒนาทุกอย่างขึ้นมาใหม่ อาจทำให้จีนต้องถอยหลังกลับไปกว่า 5 ปี
การใส่เงินลงทุนกับบริษัทจีนที่พัฒนาชิปในขั้นต้นมีความเสี่ยงในด้านการถูกฟ้องร้องและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทลงทุนต้องพิจารณาให้แน่ใจว่าบริษัทผู้พัฒนาชิปมีความเชี่ยวชาญและมีเงินทุนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันกับความต้องการของตลาด
Hongye Wang หุ้นส่วนของบริษัทร่วมลงทุน Antler กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ยากที่จะแยกให้ออกว่าสตาร์ทอัพรายไหนจะประสบความสำเร็จ โอกาสของบริษัทที่จะสำเร็จอาจอยู่ที่เพียง 10 ใน 1,000 หรือราว 1%
Wang มองว่าตลาดสำหรับไฮเทคสตาร์ทอัพจะค่อยๆ ดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากบริษัทลงทุนต่างๆ ยังมีเงินสดอยู่มาก เพราะแทบจะไม่ได้ติดสินใจลงทุนใหม่เลยในช่วงของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาในปีนี้
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแบนของสหรัฐฯ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีการสื่อสาร
สำหรับ SK Hynix บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งมีโรงงานผลิตชิปในจีน เปิดเผยว่า บริษัทจะพิจารณาแผนรองรับในกรณีเลวร้าย คือการตัดสินใจขายธุรกิจในจีนออกไปหากการแบนของสหรัฐฯ ทำให้การดำเนินงานยุ่งยากขึ้น
“จากแผนฉุกเฉิน เรากำลังคิดเกี่ยวกับการขายโรงงาน อุปกรณ์บางส่วน เราอยากจะทำธุรกิจต่อไปโดยที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้” Kevin Noh ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาดกล่าว
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน SK Hynix เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการผ่อนผันจากสหรัฐฯ ให้สามารถใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ต่อไปได้อีก 1 ปี สำหรับการผลิตชิปหน่วยความจำขั้นสูงในประเทศจีน เช่นเดียวกับ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. ก็ได้รับการผ่อนผัน 1 ปีเช่นกัน
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/10/28/foreign-investment-funds-bet-on-a-us-proof-china-chip-industry.html
- https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3197302/if-china-cant-get-us-tech-maybe-its-allies-will-be-more-open-supplying-china-chips
- https://asia.nikkei.com/Business/Tech/Semiconductors/SK-Hynix-weighs-future-of-China-chip-plant-after-U.S.-tech-curbs