อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติเตือนภาครัฐทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมีความรับผิดชอบ หวั่นสร้างภาระการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย ฉุดผลิตภาพประเทศระยะยาวซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวและรถคันแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (6 ตุลาคม) วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นถึงแผนการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า
“การบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ทำนองว่า
“ถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด อาจจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตของผู้ป่วยหนึ่งคนและครอบครัว
“ถ้าวิศวกรสร้างตึกหรือสะพานผิดพลาด อาจจะหมายถึงชีวิตคนหลายสิบหรือหลายร้อยคนที่ใช้งาน
“แต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดแล้ว อาจจะกระทบต่อชีวิตของคนหลายสิบล้านคนทั้งประเทศ
“วันนี้ ด้วยพลังของตลาดที่รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แค่ผู้มีอำนาจรัฐเริ่มคิดจะทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบ ก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคนได้ทั้งประเทศแล้ว ผ่านกลไกของตลาดเงินและตลาดทุน
“เรามีตัวอย่างนโยบายภาครัฐจากอดีตหลายอันที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ แต่สร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาดและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ สร้างภาระทางการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพยาวนานไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หรือโครงการรถคันแรก
“ถ้าเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการทำนโยบายที่หวังผลต่อ GDP แค่ช่วงสั้นๆ ผลที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงในการเลือกตั้ง 4 ปีข้างหน้าอาจจะกลับทิศได้อีกด้วย ถึงเวลาใกล้เลือกตั้งรอบหน้า เศรษฐกิจที่โดนกระตุ้นด้วยยาโด๊ปเงินดิจิทัลก็คงหมดพลังลงพอดี นอกจากนี้ โครงการภาครัฐดีๆ อีกนับสิบนับร้อยโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในวันนี้และวันหน้าอาจถูกตัดงบประมาณลง
“ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าประชาชนจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป มากกว่านโยบายประชานิยม เชื่อว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า กระแสเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก ในขณะที่ทรัพยากรด้านการคลังจะยิ่งจำกัดมากขึ้น
“นอกจากนี้ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบแล้ว ความน่าเชื่อถือจะไหลลงเร็วทั้งจากในและต่างประเทศ จะทำอะไรต่อไปก็จะยากไปหมด มีแต่ความไม่เชื่อมั่น ความแคลงใจกัน นโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศจะยิ่งเกิดได้ยากมาก
“โจทย์ในวันนี้น่าจะเป็นว่า จะช่วยกันหาทางลงให้กับนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ควรทำได้อย่างไร มากกว่าที่จะเดินหน้าต่อทั้งที่รู้ว่าจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย”
นอกจากนี้ วิรไทยังแชร์ข้อความที่มีเนื้อหาระบุว่า “เพียงเดือนเศษๆ กับนโยบายเงินดิจิทัล ความมุ่งมั่นดื้อดึงที่จะทำโครงการนี้ ทั้งๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ค่อนประเทศไม่เห็นด้วย นอกจากทำให้นักลงทุนกังวลถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นที่ไม่คุ้มกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ ยังทำให้เห็นได้อีกว่าการตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงรอบข้าง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ
“นอกจากนี้ยังมีการส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการโยกย้ายหากข้าราชการที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวในการบริหารรัฐนาวาในยามนี้อีกด้วย บริษัทที่ให้ Credit Rating อย่าง S&P, Moody’s และ Fitch จึงออกมาพร้อมหน้าพร้อมตาเตือน และพร้อมที่จะลด Credit Rating หากใช้นโยบายทางการคลังที่ไม่เหมาะสม
“ดังนั้นนักลงทุนจึงเทขายพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างหนักจน Yield ขึ้นมากว่า 70 Basis Point (รวมผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น) แล้ว เพียงระยะเวลาเพียงเดือนเศษ จนมาอยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ส่วนค่าเงินบาทกำลังลงไป Test Low เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาหุ้นไทยตกไปแล้วกว่า 13%
“นี่กำลังจะทำให้หนี้สินรัฐบาล 7.6 ล้านล้านบาท ที่มีค่าดอกเบี้ยจ่ายกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท กำลังจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นหากต้อง Rollover”
ขณะที่ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“พอได้มีโอกาสฟังและอ่านเพื่อนๆ ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ผมนับถือพูดถึงนโยบายเงินดิจิทัล ซึ่งทุกคนที่พูดถึงนโยบายนี้ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ทั้งนั้น มันทำให้ผมนึกถึงตอนก่อนที่จะมีการโหวต Brexit ในสหราชอาณาจักรในปี 2016 ที่นักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกคนที่ออกมาพูดถึงผลกระทบที่จะตามมาของการที่ UK จะออกจาก EU ต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวว่า มันจะแย่กันทั้งประเทศนะ
“We are shooting ourselves in the foot! นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอก
“แต่รัฐบาลก็ไม่ฟังเสียงจากนักเศรษฐศาสตร์เลย โดยพวกเขาใช้เหตุผลว่า ก็คนส่วนใหญ่โหวตให้ Brexit เกิดขึ้น เราก็ต้องทำให้ Brexit เกิดขึ้นตามเจตจำนงของประชาชน
“สรุปก็คือ Brexit เกิดขึ้นจริงๆ และก็ทำให้มีผลกระทบที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจของ UK ที่ตอนนี้ก็ยังไม่ Recover กลับมาเหมือนเดิมตามที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์เอาไว้จริงๆ
“และนี่ก็คือที่มาของ Bregret หรือ Brexit Regret ของคนเกือบทั้งประเทศ
รัฐบาลที่ดีจึงควรจะรับฟังข้อมูลรอบด้านนะครับ เราสามารถเปลี่ยนใจตามข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามาได้ (นักเศรษฐศาสตร์เราเรียกพฤติกรรมของการเปลี่ยนใจตามข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามาว่า Bayesian Updating) ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้นะครับ ผมว่าถ้าอธิบายกับคนที่โหวตให้ดีๆ ถึงข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามาว่ามันจะมีผลกระทบระยะยาวที่แย่ เขาน่าจะเข้าใจครับ”