×

มองต่างชาติ มองไทย: วัคซีนกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

14.05.2021
  • LOADING...
วัคซีนกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เป็นเวลาเกินหนึ่งเดือนแล้ว ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่สามในประเทศไทย แม้ในเชิงความเข้มงวดของมาตรการเว้นระยะห่างในครั้งนี้ อาจไม่เทียบเท่าระดับการล็อกดาวน์ทั้งประเทศในช่วงเดือนเมษายน ปี 2563 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับใกล้เคียง หรือเทียบเท่าการระบาดเมื่อปีที่แล้วเลยทีเดียว

โดยการระบาดในครั้งนี้ ทำให้มุมมองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ทั้งด้านการบริโภคภาคเอกชนจากเดิมที่มีการคาดหวังให้มีการฟื้นตัวจากการสนับสนุนของภาครัฐ ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็อาจมีแนวโน้มที่กลับมาหดตัวลดลงอีก เนื่องจากรายได้ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจบริการ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการเว้นระยะห่าง ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวไทยที่มีการคาดหวังจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแผนการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงใหม่ในการนำเข้าเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศได้ 

 

มาตรการสำคัญที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ อาจเป็นมาตรการที่แตกต่างจากในอดีต เนื่องจากมาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการทางการเงินหรือการคลัง แต่เป็นมาตรการ การเร่งกระจายวัคซีนในประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันเป็นมาตรการที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ล้วนให้ความเห็นสนับสนุนว่าเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการรับมือต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

 

การเร่งกระจายวัคซีนส่งผลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร 

การฉีดวัคซีนในประเทศ มีเป้าหมายหลักสำคัญคือเพื่อการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งในเชิงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยทำให้โอกาสของการแพร่กระจายของโควิด-19 ในอนาคตลดลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ดี

 

หากเรานำข้อมูลจริงในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มาเปรียบเทียบเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการกระจายวัคซีนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะพบว่า ทุกประเทศต่างมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเมื่อระดับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นเครื่องมือหลักที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และเมื่อการระบาดสามารถควบคุมได้ มาตรการเว้นระยะห่างที่มีการปิดสถานที่สาธารณะ ร้านอาหาร หรือร้านค้า ก็มีความจำเป็นที่ลดลง ดังนั้น ประเทศที่มีการระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก จึงสามารถกลับมาผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่าง และทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งนั่นเป็นการช่วยฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 

       

 

จากภาพด้านบนเป็นการเปรียบเทียบ ดัชนีการเคลื่อนไหวของกูเกิล (Google Mobility Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่สามารถแสดงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยดำเนินการเปรียบเทียบระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปี 2563 ที่ในแต่ละประเทศยังไม่มีการฉีดวัคซีน เทียบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ได้มีการกระจายวัคซีน ผลการศึกษาข้อมูลจาก 15 ประเทศที่ได้มีการฉีดวัคซีนในปริมาณมาก พบว่า ภายหลังจากที่ได้มีการฉีดวัคซีนเป็นเวลา 4 เดือน กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10-30% 

 

โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของประเทศสหราชอาณาจักร ที่ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบอย่างหนักของการระบาดจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงกว่า 30% จากระดับปกติ อย่างไรก็ตามการมีแผนการเร่งฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว ทำให้สหราชอาณาจักรมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนเมษายน มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ในขณะเดียวกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวเพียง 10% ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 5 เดือน

 

ส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่สาม จึงทำให้เกิดมาตรการเว้นระยะห่างที่เข้มงวดมากขึ้น Google Mobility Index จึงมีการหดตัวลงเกินกว่า 20% ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดือนธันวาคม 2563 ดังนั้น การวางแผนเพื่อเร่งกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ     

 

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงผลของการเร่งฉีดวัคซีนต่อสภาพเศรษฐกิจ มาจากงานวิจัยของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) โดย ดร.ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านทางแบบจำลองระบาดวิทยา โดยอาศัยข้อมูลจากทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนากว่า 27 ประเทศ ผลการศึกษาในทุกประเทศแสดงความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันว่า การเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ และช่วยส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2564 มีการฟื้นตัวที่ดี โดยผลลัพธ์อาจมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะตัว เช่น ประเทศในฝั่งยุโรปและอเมริกาเหนือที่ภาคบริการเป็นสัดส่วนหลักของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มการฉีดวัคซีนได้รวดเร็วกว่าประเทศในเอเชียและอเมริกาใต้ จึงทำให้ประเทศในฝั่งยุโรปและอเมริกาเหนือมีแนวโน้มการหดตัวของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ  

 

 

นอกจากนี้ ผลของงานวิจัยได้แสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ความเร็วของการกระจายวัคซีนส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มการหดตัวของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจในกรณีเร่งกระจายฉีดวัคซีน เทียบกับแนวโน้มการหดตัวของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจ กรณีที่การฉีดวัคซีนล่าช้า พบว่าค่ามัธยฐานของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจ ในกรณีเร่งกระจายฉีดวัคซีนมีการหดตัวเพียง 2.25% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับในกรณีที่มีการฉีดวัคซีนล่าช้าส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจหดตัว 3%       

 

หลักฐานเบื้องต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2564 นี้ ซึ่งการกระจายวัคซีนในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ อาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันของเศรษฐกิจโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ชี้ถึงประเด็นความเสี่ยงการเติบโตที่ไม่เท่ากันนี้ ในรายงาน World Economic Outlook เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาว่า จากการประเมินของ IMF ประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ได้มีการจัดการกระจายฉีดวัคซีนไปอย่างครอบคลุม จะมีการฟื้นตัวของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวช้าที่สุด คือกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งขาดการสนับสนุนด้านการกระจายวัคซีนที่ดี โดยเราอาจต้องยอมรับว่า ประเทศไทยอาจเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำในปีนี้ อันเนื่องมาด้วยการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าเช่นกัน    

 

 

การกระจายวัคซีนเชิงรุกเพื่อเร่งกระจายวัคซีน คือคำตอบของเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่ดีในอนาคต การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาดเป็นโจทย์ที่สำคัญและจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น ซึ่งหากเปรียบเทียบเป้าหมายการฉีดวัคซีนวันละ 3 แสนโดสที่ทางภาครัฐได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน แสดงให้เห็นภาพการฉีดวัคซีนในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยมียอดการฉีดสูงสุดเพียง 140,000 รายต่อวัน และปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2564) มีค่าเฉลี่ยของการฉีดวัคซีนย้อนหลัง 7 วันประมาณ 26,000 รายต่อวัน ทั้งนี้ อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำในช่วงต้น อาจสามารถอธิบายด้วยปัจจัยทางด้านจำนวนวัคซีนในระยะเริ่มต้นที่จำกัด รวมไปถึงการเน้นกระจายวัคซีนไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ และประชากรในบริเวณที่มีการระบาดสูงเท่านั้น

 

 

แผนการกระจายวัคซีนในลำดับถัดไป ได้มีการวางแผนการกระจายวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงเดือนมิถุนายน และกระจายฉีดวัคซีนสู่ประชาชนในช่วงเดือนกรกฎาคม ข้อเสนอหนึ่ง ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายวัคซีนแก่ประชากรในประเทศได้ คือ แนวทางการกระจายวัคซีนเชิงรุก (Targeted Approach) แก่ประชากรโดยเน้นการร่วมมือกับภาคเอกชน ในการระดมกระจายฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เช่น สถานที่ทำงาน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านค้า และงานบริการต่างๆ 

 

วิธีการนี้ เป็นวิธีการที่สามารถเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการนำวัคซีนไปหาชุมชน ลดข้อจำกัดด้านการเดินทาง และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือเพื่อเพิ่มความสามารถในจัดการ ยิ่งไปกว่านั้น การเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูงจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วขึ้น จากการที่ภาคธุรกิจบริการสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้เร็วขึ้น

 

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นวาระสำคัญของประเทศไทย และเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยพาเศรษฐกิจไทยเติบโตสอดคล้องไปกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้  

  

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X