×

วัคซีน vs โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ใครจะชนะ?

22.02.2021
  • LOADING...
วัคซีน vs โควิด-19

HIGHLIGHTS

  • บางคนเปรียบเทียบความพยายามในการควบคุมโรคโควิด-19 เหมือนกับการวิ่งมาราธอน หรือความจริงแล้วความพยายามนี้เป็นการวิ่งไล่จับที่ไวรัสกำลังวิ่งนำหน้า ส่วนเราวิ่งไล่ตาม วัคซีนทำให้เราเข้าใกล้ไวรัสมากขึ้นจนเกือบจะทันแล้ว แต่ไวรัสก็เร่งฝีเท้าขึ้นอีกด้วย ‘การกลายพันธุ์’ 
  • สายพันธุ์ที่น่าจับตามองที่สุดคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 ที่วัคซีนทุกบริษัทกำลังประสบปัญหาเหมือนกัน กล่าวคือวัคซีน BioNTech/Pfizer และ Moderna: น้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนมีความสามารถในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่ลดลงถึง 6 รอบ (Fold) วัคซีน AstraZeneca: ประสิทธิภาพจากการฉีดวัคซีนลดลงเหลือ 10% ทางบริษัทจึงกำลังพัฒนาวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ ซึ่งอาจใช้เวลา 6-9 เดือน วัคซีน Johnson & Johnson: ที่ทดลองในแอฟริกาใต้มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด 57% เมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐฯ 72% และลาตินอเมริกา 66%

‘โควิดมาราธอน’ บางคนเปรียบเทียบความพยายามในการควบคุมโรคโควิด-19 เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ซึ่งเป็นการวิ่งระยะไกล ต้องใช้เวลานานระดับชั่วโมง ไม่ได้ระเบิดพลังวิ่ง 100 เมตรแล้วจบภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่ปัญหาก็คือเรายังไม่รู้เลยว่าตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาเราวิ่งกันถึงจุดไหนแล้ว การเริ่มฉีด ‘วัคซีน’ ในหลายประเทศจะถือว่ามาถึงครึ่งทางแล้วหรือยัง 

 

หรือความจริงความพยายามนี้เป็นการวิ่งไล่จับที่ไวรัสกำลังวิ่งนำหน้า ส่วนเราวิ่งไล่ตาม วัคซีนทำให้เราเข้าใกล้ไวรัสมากขึ้นจนเกือบจะทันแล้ว แต่ไวรัสก็เร่งฝีเท้าขึ้นอีกด้วย ‘การกลายพันธุ์’ ถึงแม้ปัจจุบันไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ยังคงเป็นชนิดเดิม แต่มีสายพันธุ์อะไรบ้างที่น่ากังวล และวัคซีนที่เริ่มฉีดกันไปแล้วจะมีประสิทธิภาพลดลงหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบครับ

 

สายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19

ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจคำว่า ‘สายพันธุ์’ ก่อน เพราะในภาษาไทยใช้คำนี้คำเดียวแทนภาษาอังกฤษหลายคำ ซึ่งเป็นคนละความหมายกัน 

 

ทุกท่านน่าจะคุ้นเคยกับ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ชื่อเรียกตอนแรกของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 คำว่า ‘สายพันธุ์’ ในที่นี้หมายถึงไวรัส ‘ชนิด’ (Type) ใหม่ในกลุ่มไวรัสโคโรนาเดิม แต่การกลายพันธุ์ที่ทุกท่านได้ยินจากข่าวในช่วงที่ผ่านมาคือไวรัส SARS-CoV-2 ชนิดเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมเป็น ‘สายพันธุ์’ (Variant หรือ Strain) ใหม่ 

 

การกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นตลอดเวลา หากเข้าไปที่เว็บไซต์ของ GISAID ซึ่งรวบรวมรหัสพันธุกรรมของไวรัสจากทั่วโลกไว้จะพบว่ามีสายพันธุ์แยกย่อยจำนวนมาก การจำกัดการเดินทางทำให้ไวรัสพัฒนาสายพันธุ์จากการระบาดภายในประเทศนั้นๆ เมื่อตรวจหาลำดับสารพันธุกรรมของไวรัสจึงสามารถระบุได้ว่าไวรัสมาจากพื้นที่ใด โดยในขณะนี้มี 3 สายพันธุ์ที่กำลังถูกติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด ได้แก่

 

  • สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 (20I/501Y.V1)
  • สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 (20H/501Y.V2)
  • สายพันธุ์บราซิล P.1 (20J/501Y.V3)

 

วัคซีน vs โควิด-19

ภาพแผนผังสายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 

และสัดส่วนที่พบในแต่ละประเทศ

 

สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 

ไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.7 ถูกรายงานครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันพบใน 83 ประเทศทั่วโลก ถ้าจัดกลุ่มตาม GISAID (เป็นเกณฑ์การแบ่งกลุ่มของสายพันธุ์ที่ได้ยินในข่าวช่วงแรก) จะอยู่กลุ่มของสายพันธุ์ GR มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่เกี่ยวกับหนามของไวรัส (Spike) หลายตำแหน่ง เช่น N501Y, deletion 69-70 เป็นต้น มีความสามารถในการแพร่กระจายมากกว่าสายพันธุ์เดิม 50-75%

 

ผลการศึกษาความรุนแรงเบื้องต้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิต โดยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็น 1.65 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม ส่วนภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดิมซึ่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วได้นาน 5-8 เดือนอาจมีผลยับยั้งสายพันธุ์ใหม่ได้ 60% แต่จากการศึกษาอัตราการติดเชื้อซ้ำพบว่ามีประมาณ 0.7% ซึ่งไม่ได้สูงกว่าสายพันธุ์เดิม

 

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351

ไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 ถูกค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ปัจจุบันมีรายงานใน 40 ประเทศ หากจัดกลุ่มตาม GISAID จะอยู่กลุ่มของสายพันธุ์ GH มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่เกี่ยวกับหนามของไวรัสหลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่สำคัญเป็นตำแหน่งที่ใช้จับกับผิวเซลล์ของมนุษย์ ได้แก่ K417N, E484K และ N501Y (ตำแหน่งนี้เหมือนสายพันธุ์อังกฤษ)

 

ความสามารถในการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากการคำนวณด้วยโมเดลคณิตศาสตร์เดียวกับสายพันธุ์อังกฤษ ยังไม่พบหลักฐานว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น แต่พบว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์เดิม ทำให้ความสามารถในการกำจัดเชื้อลดลงเหลือ 10-50% (ไวรัสเร่งฝีเท้าเร็วขึ้นมากเลยทีเดียว) โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K

 

สายพันธุ์บราซิล P.1

ไวรัสสายพันธุ์ P.1 ถูกรายงานครั้งแรกที่ญี่ปุ่น โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาจากบราซิล เมื่อจัดกลุ่มตาม GISAID จะอยู่กลุ่มของสายพันธุ์ GR มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน 11 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ต้นตระกูล B.1.1.28 โดยตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ K417T, E484K และ N501Y (ทั้ง 3 สายพันธุ์ที่ถูกติดตามอย่างใกล้ชิดมีความเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันอยู่)

 

สำหรับความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค การตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และการติดเชื้อซ้ำของไวรัสสายพันธุ์นี้ยังไม่มีข้อมูล แต่คาดว่าน่าจะเหมือนกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K เหมือนกัน ส่วนสายพันธุ์อังกฤษเองก็เริ่มมีรายงาน B.1.1.7+E484K แล้ว แต่ยังพบน้อยมากในบางพื้นที่ และอยู่ระหว่างการศึกษาคุณสมบัติต่างๆ

 

วัคซีนกับการกลายพันธุ์

การกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การกลายพันธุ์ที่นักวิจัยและพัฒนาวัคซีนสนใจคือตำแหน่งหนามของไวรัส เพราะเป็นตำแหน่งที่ไวรัสใช้จับกับตัวรับ (Receptor) บนผิวเซลล์มนุษย์ และเป็นตำแหน่งที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเข้าไปจัดการเพื่อขัดขวางไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ เหมือนแม่กุญแจกับลูกกุญแจเพื่อไขประตูเข้าบ้าน ถ้าลูกกุญแจถูกขัดขวางก็จะเปิดประตูไม่ได้

 

นอกจากนี้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนยังใช้หนามเป็นตัวกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วย โดยวัคซีนชนิด mRNA เช่น BioNTech/Pfizer และ Moderna เป็นการฉีดชิ้นส่วนพันธุกรรมที่จะถูกนำไปถอดรหัสต่อเป็นส่วนหนามเข้าไปในร่างกาย หรือวัคซีนชนิด Viral Vector เช่น AstraZeneca ตัดต่อพันธุกรรมของส่วนหนามเข้าไปในไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อโรคในคนแล้วฉีดเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น

 

ดังนั้นการแพร่ระบาดของ 3 สายพันธุ์นี้จึงถูกติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่เริ่มฉีดไปแล้วในหลายประเทศ ขอเริ่มต้นที่ สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ผลการทดลองในหลอดทดลองพบว่าน้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน BioNTech/Pfizer และ Moderna ยังคงยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca จากการฉีดจริงเท่ากับ 74.6% ไม่แตกต่างจากการป้องกันสายพันธุ์อื่น

 

ในขณะที่ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 วัคซีนทุกบริษัทกำลังประสบปัญหาเหมือนกัน กล่าวคือ 

 

  • วัคซีน BioNTech/Pfizer และ Moderna: น้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนมีความสามารถในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่ลดลงถึง 6 รอบ (Fold)
  • วัคซีน AstraZeneca: ประสิทธิภาพจากการฉีดวัคซีนลดลงเหลือ 10% ทางบริษัทจึงกำลังพัฒนาวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ ซึ่งอาจใช้เวลา 6-9 เดือน
  • วัคซีน Johnson & Johnson: ที่ทดลองในแอฟริกาใต้มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด 57% เมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐฯ 72% และลาตินอเมริกา 66%

 

ส่วนสายพันธุ์บราซิล P.1 (เช่นเคย) ยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน ดังนั้นคำถามที่ว่าโควิด-19 สายพันธุ์ใดน่ากังวลที่สุดในขณะนี้ คำตอบจึงเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าการกลายพันธุ์นี้เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีระดับภูมิคุ้มกันสูง ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อมาก่อนหรือฉีดวัคซีน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าสายพันธุ์นี้จะแพร่ระบาดแทนที่สายพันธุ์อังกฤษด้วย เมื่อมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น

 

การป้องกันไวรัสสายพันธ์ุใหม่

สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์เหล่านี้ ส่วนที่มีข่าวว่าพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี อาชีพรับซื้อพลอยในแทนซาเนีย ต่อเครื่องจากเอธิโอเปียมาสนามบินสุวรรณภูมิปลายเดือนมกราคม แต่กรณีนี้ผู้ป่วยเข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ตั้งแต่ต้น จึงไม่น่าจะเกิดการแพร่ระบาดออกไปในชุมชน

 

ถ้าเปรียบเทียบการควบคุมโรคโควิด-19 เป็นการวิ่งไล่จับ เมื่อวัคซีนทำให้เราวิ่งตามไวรัสจนทัน แต่ไวรัสก็มีการกลายพันธุ์หนีเราออกไปอีก ในระหว่างที่ยังรอวัคซีน (ทั้งเก่าและใหม่) การป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากในที่สาธารณะจึงยังมีความจำเป็นอยู่ ขณะเดียวกันการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสของประเทศมีความสำคัญ โดยเพิ่มการส่งตรวจและเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาลำดับสารพันธุกรรมให้มากขึ้น 

 

และสุดท้ายมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางคือการกักกัน (Quarantine) นักท่องเที่ยว 14 วันยังเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผลมากที่สุด โดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ แต่ถ้าหากจะลดวันกักตัว ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) แนะนำว่าต้องมีการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง ร่วมกับการตรวจหาเชื้อในระหว่างวันที่ 5-7 เมื่อผลเป็นลบจึงจะสามารถปล่อยตัวได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X