×

‘วัคซีน’ ความหวังการป้องกันโรคโควิด-19 กับบทบาทของ GSK

29.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า การฉีดวัคซีนมีส่วนช่วยในการป้องกันผู้คนจากโรคระบาด โดยลดอัตรา ‘การเสียชีวิต’ ไม่ต่ำกว่าประมาณปีละ 2-3 ล้านราย
  • ประโยชน์ของวัคซีนไม่ได้หยุดอยู่แค่ ‘ทางตรง’ หรือการช่วยป้องกันผู้คนไม่ให้ล้มป่วยและเสียชีวิต เพราะประโยชน์ในทางอ้อมยังส่งผลกับเศรษฐกิจ สังคม องค์กร หน่วยงานต่างๆ อีกด้วย 
  • สิ่งที่ GSK กำลังทำในฐานะบริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีน คือการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก

จริงอยู่ที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยได้ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เริ่มให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจต่างๆ และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้วภายใต้เงื่อนไขการเว้นระยะห่างทางสังคม และการปรับรูปแบบการให้บริการต่างๆ ให้เหมาะสมตามรูปแบบความปกติใหม่ (New Normal)

 

แต่ข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่ต่างก็ทราบกันอยู่เต็มอกคือ ‘โควิด-19’ ยังไม่ได้เลือนหายไปจากโลกใบนี้ กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือการกลับมาระบาดระลอกใหม่อีกครั้งของไวรัสร้ายดังกล่าวในกรุงปักกิ่งประเทศจีน ซึ่งมีการพบผู้ติดเชื้อรวมมากกว่า 100 รายไปแล้ว หลังไม่มีรายงานพบตัวเลขผู้ติดเชื้อมาก่อนเลยในรอบเกือบ 2 เดือน

 

ก่อนหน้านี้ ผู้สันทัดกรณี ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคาดการณ์กันว่า เราอาจจะต้องใช้ระยะเวลามากถึง 1 ปีกับอีกราว 6 เดือน กว่าที่จะสามารถคิดค้น พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ได้สำเร็จ แต่เราจะต้องรอนานขนาดนั้นจริงๆ หรือไม่ การมีอยู่ของวัคซีนจะช่วยให้เรากลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิมในระดับใด

 

เมื่อเร็วๆ นี้ THE STANDARD มีโอกาสได้รับฟังการแถลงข่าวออนไลน์ หัวข้อ ‘Developing the Vaccines of Tomorrow’ ร่วมกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดย GSK หรือแกล็กโซสมิทไคลน์ บริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีนจากสหราชอาณาจักรที่เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาวัคซีนเพื่ออนาคต รวมถึงความคืบหน้าของแผนการร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และนี่คือข้อมูลที่น่าสนใจบางส่วนที่เราสรุปมาให้คุณ

 

 

ทำไม ‘วัคซีน’ ถึงกลายเป็นความหวังในการรับมือโควิด-19? 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก WHO (อัปเดตข้อมูลถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2019) ระบุว่า การฉีดวัคซีนมีส่วนช่วยในการป้องกันผู้คนจากโรคระบาด โดยช่วยลดอัตรา ‘การเสียชีวิต’ ไม่ต่ำกว่าประมาณปีละ 2-3 ล้านราย เท่านั้นยังไม่พอ วัคซีนยังมีส่วนสำคัญในการป้องกันความพิการที่เกิดขึ้นในเด็กๆ ทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 750,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่าวัคซีนมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากกับผู้คนในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะทารกหรือแม้แต่ผู้สูงอายุ

 

อธิบายโดยย่อและกระชับที่สุด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค CDC ประจำประเทศสหรัฐอเมริกาได้สรุปแนวทางการทำงานของวัคซีนว่า การรับวัคซีนจะช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และเมื่อเราได้รับเชื้อโรคหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ (Natural infection) ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันพร้อมที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านั้น 

 

แต่ใช่ว่าการรับวัคซีนครั้งเดียวแล้วจะช่วยให้เราไม่ป่วยไปตลอดกาล เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนบางชนิดอาจจะลดลงไปได้เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รักษาความสามารถในการป้องกันโรคได้อย่างต่อเนื่อง

 

ประโยชน์ของวัคซีนไม่ได้หยุดอยู่แค่ ‘ทางตรง’ หรือการช่วยป้องกันผู้คนไม่ให้ล้มป่วยและเสียชีวิต เพราะประโยชน์ในทางอ้อมยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม องค์กร หน่วยงานต่างๆ อีกด้วย เพราะเมื่อมองในแง่ภาพรวม หากไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม (ในกรณีนี้คือโควิด-19) ธุรกิจต่างๆ ก็สามารถกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ ช่วยเพิ่มความโปรดักทีฟให้กับบุคลากร ลดอัตราการขาดลางาน และยังทำให้ประชากรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

 

 

ดังนั้นเมื่อมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ขึ้นในทุกๆ ปีต่อจากนี้ ประกอบกับการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การแพทย์เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและมีข้อจำกัดในแง่การรองรับความทั่วถึง วัคซีนจึงกลายเป็นความหวังสุดท้ายในสถานการณ์ ณ ขณะนี้

 

 

GSK มีส่วนร่วมอย่างไรกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19

สิ่งที่ GSK กำลังทำในฐานะบริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีนคือการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับหน่วยงานต่างๆ โดยบริษัทมีประวัติในด้านวัคซีนกว่า 100 ปี ตั้งแต่เมื่อครั้นโรงงานในรัฐมารีเอตตาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ผลิตวัคซีนโรคฝีดาษ ในปี ค.ศ. 1882

 

GSK ได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านการใช้ทั้งความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการ เทคโนโลยี พอร์ตโฟลิโอ และแหล่งทรัพยากรทั้งหมดของบริษัท โดยคำนึงถึงหลักการ 4 ประการ ประกอบด้วย การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ แนวทางการทำงานร่วมกันในระดับโลก การมุ่งมั่นเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าถึง และการเตรียมพร้อมต่อการรับมือกับโรคระบาดในระยะยาว

 

ในเรื่องนี้ GSK ได้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลกสามารถนำเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant technology) ของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ซึ่งเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ นับเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาวัคซีนในภาวะการระบาดใหญ่ในขณะนี้ เนื่องจากการใช้สารเสริมฤทธิ์จะช่วยลดปริมาณการใช้โปรตีนในวัคซีนแต่ละโดสในขณะที่ประสิทธิภาพยังคงเดิม ทำให้สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมากขึ้นเพื่อใช้ป้องกันโรคสำหรับคนจำนวนมาก 

 

โดยล่าสุด GSK ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และบริษัท โคลเวอร์ ไบโอฟาร์มาซูติคอล ประเทศจีน รวมถึงขยายความร่วมมือไปยังบริษัทพันธมิตรอีก 5 แห่งและกลุ่มวิจัยทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งขณะนี้มีรายงานความคืบหน้าของการทดลองในสัตว์ทดลอง (Preclinical) จากความร่วมมือของ GSK และองค์กรหนึ่งที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของสารเสริมฤทธิ์ และคาดว่าจะได้รับข้อมูลรายงานความคืบหน้าการพัฒนาทางคลินิกของวัคซีนทดลองเพื่อป้องกันโควิด-19 จากความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ โดย GSK จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับองค์กรและสถาบันอื่นๆ ต่อไป พร้อมเร่งจัดหาแนวทางต่างๆ ในกระบวนการผลิต เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เพียงพอต่อความต้องการ

 

สิ่งที่ทาง GSK ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในขณะนี้ คือการพัฒนาวิธีการป้องกันโควิด-19 ทางบริษัทไม่ได้คาดหวังการทำกำไรจากการจำหน่ายวัคซีนในช่วงโควิด-19 ระบาด และหากมีรายได้ดังกล่าวเกิดขึ้นในระยะสั้นนี้ ทั้งหมดจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาทั้งภายในองค์กรหรือร่วมมือกับบริษัทอื่น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันโรคระบาดในอนาคต

 

อีกหนึ่งด้านที่ GSK ให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วยกันคือ งานด้านวิจัยและพัฒนา โดยปัจจุบันพวกเขามีศูนย์วิจัยและพัฒนาในระดับโลกรวมทั้งหมด 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาใน Rockville (สหรัฐอเมริกา), Rixensart (เบลเยียม) และ Siena (อิตาลี) ที่จะโฟกัสทุ่มเทไปกับการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อหาหนทางยับยั้ง ป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่จะเข้ามาคุกคามมนุษย์

 

ทั้งยังไม่ปิดกั้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยวัคซีนในสัดส่วนมากกว่า 90% ของ GSK ได้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การทำงานร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ทั้งกลุ่มรัฐบาล ผู้ให้ทุน สถาบันศึกษาต่างๆ

 

และเชื่อว่าอีกไม่นาน เราก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทาง GSK ร่วมพัฒนาขึ้น ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ มวลมนุษยชาติ และทุกชีวิตได้อย่างไม่รู้จบ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X