×

เปิดเบื้องหลังปมปัญหาอุยกูร์: มองผ่านเลนส์นักวิชาการด้านจีนศึกษา

28.11.2019
  • LOADING...
ปมปัญหาอุยกูร์

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ยุคสมัยคอมมิวนิสต์ (ปี 1949 ถึงปัจจุบัน) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับจีนมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยในด้านหนึ่ง จีนมีนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง
  • จากการบอกเล่าของนักวิชาการด้านจีนศึกษาบางคนระบุว่า นโยบายของจีนต่อเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ เป็นผลมาจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ตลอดจนสงครามเย็นและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในยุคปัจจุบัน 
  • ขณะเดียวกัน การเติบโตของกระแสแนวคิดการรวมเติร์ก (Pan-Turkism) และแนวคิดการรวมอิสลาม (Pan-Islamism) ในหมู่ชาวอุยกูร์นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้จีนหวาดระแวงถึงขั้นกระทำการรุนแรงต่อชาวอุยกูร์
  • การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการแยกตัวเป็นรัฐเอกราชของกลุ่มชนเชื้อชาติเติร์กในเอเชียกลาง 5-6 ประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ยิ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนหวาดเกรงกระแสการเคลื่อนไหว เพื่อแบ่งแยกดินแดนของชาวอุยกูร์ออกจากจีน เหมือนที่เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียต

เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ผู้เขียนได้รับเชิญจากทางการจีนให้ไปเยี่ยมชมเมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ พร้อมกันนั้นก็มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา ‘Xinjiang Development Forum’ ซึ่งมีเพื่อนนักวิชาการจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมกว่า 30 ประเทศทั่วโลก 

 

ในงานครั้งนั้น นอกจากพวกเราจะมีโอกาสลงไปสัมผัสชีวิตจริงของชาวอุยกูร์ และเรียนรู้นโยบายการพัฒนาซินเจียงของรัฐบาลจีนแล้ว เรายังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดความอ่านระหว่างกันเกี่ยวกับปัญหาอุยกูร์ (อย่างไม่เป็นทางการ) ทั้งระหว่างที่พวกเรานั่งทานอาหารด้วยกันและระหว่างเดินทางไปดูโครงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ รอบๆ เมืองอุรุมชี (ภาษาจีนกลางอ่านว่า อูหลู่มู่ฉี)

 

นักวิชาการจากประเทศต่างๆ เหล่านี้ แม้จะมาจากคนละทิศละทาง แต่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาด้วยกันทั้งนั้น ยกเว้นผู้เขียนที่สนใจเรื่องมุสลิมและตะวันออกกลางศึกษา และไม่ค่อยมีความรู้เรื่องจีนเท่าไรนัก แต่จะว่าไปแล้ว ผู้เขียนก็ไม่ได้มาผิดงาน เพราะประชากรส่วนใหญ่ของซินเจียงกว่าร้อยละ 45 เป็นชาวอุยกูร์ที่มีประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์-ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมใกล้ชิดเชื่อมโยงกับกลุ่มคนในเอเชียกลางและตะวันออกกลางมากกว่าที่จะใกล้ชิดกับจีน 

 

ทั้งนี้ เขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ถือเป็นเขตปกครองตนเองที่ใหญ่ที่สุดในจีน หรือมีขนาด 1/6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีชายแดนติดกับ 8 ประเทศ คือ มองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน เคอร์ดิสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย

 

ชาวอุยกูร์เป็นชนชาติหนึ่งที่สังกัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เติร์ก พวกเขาตั้งรกรากอยู่ในแผ่นดินที่แต่ก่อนเรียกกันว่า ‘เตอร์กิสถาน’ มากว่า 2,000 ปีแล้ว ก่อนที่จีนจะเริ่มเข้ามามีอิทธิพลอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งต่อมาหลังจากที่จีนขีดเส้นเขตแดนของประเทศ ก็ได้เปลี่ยนชื่อดินแดนแห่งนี้เสียใหม่ว่า ‘ซินเจียง’ แปลว่า ‘ดินแดนใหม่’ ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 นี้เอง

 

ศาสนาอิสลามได้แพร่เข้ามาในดินแดนของชาวเติร์กในเอเชียกลางผ่านพ่อค้าอาหรับตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ครั้นถึงศตวรรษที่ 10 ชาวอุยกูร์ก็กลายเป็นมุสลิมเสียเป็นส่วนใหญ่แล้ว 

 

ดินแดนที่ขณะนี้เรียกว่า ซินเจียงถือเป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ซินเจียงในอดีตเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด โดยเฉพาะในยุคที่มีการค้าบนเส้นทางสายไหม (Silk Road) ศูนย์กลางการค้าอย่างนครคาชการ์เคยเป็นเมืองที่มีความเจริญอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลามในแถบนี้ ด้วยเหตุนี้ชาวอุยกูร์จึงถูกจดจำในประวัติศาสตร์ของโลกมุสลิมว่าเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนช่วยก่อร่างสร้างอารยธรรมอิสลามที่เจริญรุ่งเรือง นอกจากนั้นพวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของชาวเติร์กที่เคยปกครองโลกมุสลิมในยุคกลางผ่านการสถาปนาอาณาจักรใหญ่ๆ อย่างอาณาจักรซัลญูคเติร์กและอาณาจักรออตโตมันเติร์ก ซึ่งเป็นอาณาจักรสุดท้ายของโลกมุสลิม

 

แม้วันนี้อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ อันเป็นความภาคภูมิใจของชาวเติร์กโดยรวม จะสิ้นสลายไปแล้วหลายร้อยปี แต่กลุ่มชนชาติเติร์กเหล่านี้ก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มคนในสายเลือดเติร์กเดียวกันไม่เสื่อมคลาย ศูนย์กลางของชาวเติร์กในปัจจุบันคือประเทศตุรกี ขณะที่เราจะพบเห็นชาวเติร์กอยู่อาศัยกันในหลายพื้นที่ ไล่ตั้งแต่ดินแดนซินเจียงของจีน ประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตลอดรวมถึงอิหร่าน หรือแม้แต่ในยุโรปหลายประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี

 

ชาวเติร์กในดินแดนต่างๆ เหล่านี้มีประชากรนับรวมกันก็คงไม่ต่ำกว่า 80 ล้านคน แม้ชาวอุยกูร์ในซินเจียงจะมีประชากรอยู่แค่ 11 ล้านคน (ตามตัวเลขของทางการจีน) แต่ก็มีชาวอุยกูร์อีกจำนวนไม่น้อยที่กระจัดกระจายอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ในดินแดนต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในเอเชียกลาง ตุรกี และยุโรป 

 

ปมปัญหาอุยกูร์

 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวอุยกูร์

ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองซินเจียง-อุยกูร์มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากรทั้งหมด ถัดมาคือ ชาวจีนฮั่นที่มีประชากรอยู่ประมาณร้อยละ 39 รองลงมาคือ ชาว ‘มุสลิมฮุย’ และประชากรชนชาติอื่นๆ อีกมากมาย ลักษณะความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างชาวอุยกูร์ ชาวฮุย และชาวจีนฮั่นในซินเจียงน่าสนใจ เพราะมันสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

 

มุสลิมฮุยกับชาวอุยกูร์ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา ก่อนหน้าทศวรรษที่ 1960 รัฐบาลจีนได้ใช้คำว่า ‘ฮุย’ กับทั้งชาวอุยกูร์และชาวฮุยแบบไม่มีการแยกแยะ ชาวฮุยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันยังคงใช้คำหลายคำที่เป็นภาษาของชาวอุยกูร์ บรรพบุรุษของชาวฮุยเองสืบไปสืบมาก็มาจากเชื้อสายเติร์ก จากดินแดนเอเชียกลางคล้ายๆ กับชาวอุยกูร์ และด้วยความที่นับถือศาสนาเดียวกัน ชาวมุสลิมฮุยจึงมีความเห็นอกเห็นใจชะตากรรมของมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียงอยู่ไม่น้อย

 

ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมจีนกับชาวฮั่น (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรจีนทั้งหมด) ไม่ค่อยดีมากนัก ความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ชาวมุสลิมอุยกูร์ลุกฮือต่อต้านการขยายดินแดน การปราบปราม และการเข่นฆ่าของพวกแมนจู-ฮั่นที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-20

 

ในช่วงศตวรรษที่ 16 หลังจากที่ราชวงศ์ชิง (ปี 1644-1911) สามารถพิชิตกรุงคาชการ์ (ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของซินเจียงปัจจุบัน) ขุนนางจีนชาวฮั่นจำนวนหนึ่งก็เริ่มปราบปรามทำลายสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น ‘ศาสนาแปลกปลอม’ ของชาวมุสลิม แต่ต่อมาภายหลัง เมื่อจีนเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ (ปี 1911-1949) หรือที่เรียกว่า ‘Five-Peoples Republican’ ชาวมุสลิมก็มีสถานะทางการเมืองดีขึ้น ยุคสมัยนี้จีนประกอบไปด้วยประชากร 5 กลุ่มใหญ่ ที่สำคัญคือ พวกมองโกล แมนจู มุสลิม ฮั่น และทิเบต องค์กรมุสลิมจำนวนมากได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมทั้งการทูตระหว่างประเทศ ถึงขั้นที่ชาวมุสลิมได้ร้องขอการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศในโลกมุสลิมให้ช่วยเหลือจีน ในการต่อต้านสงครามที่ญี่ปุ่นเข้ามารุกรานเลยทีเดียว

 

พอถึงยุคสมัยคอมมิวนิสต์ (ปี 1949 ถึงปัจจุบัน) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับจีนก็มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ในด้านหนึ่ง จีนมีนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยแบ่งมุสลิมออกเป็น 10 ชนชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมก็ตกเป็นเป้าของการทำลายล้าง เพราะศาสนาอิสลามถือเป็นศัตรูกับระบอบสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (ปี 1966-1976) ถึงอย่างนั้นก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จีนก็ปล่อยให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรีมากขึ้นภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของหน่วยงานภาครัฐ

 

แต่ปัจจุบันชาวมุสลิมจีนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างภายใต้บริบทที่ประเทศจีนกำลังผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจ และกระแสชาตินิยมของชาวฮั่นเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเข้มข้นอีกครั้ง ขณะเดียวกัน นโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายของจีนภายใต้กรอบความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization หรือ Shanghai 5) ก็ทำให้ชาวมุสลิมในซินเจียงกลายเป็นเหยื่อความรุนแรง การปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมในพื้นที่อ่อนไหวถูกมองด้วยความหวาดระแวง นำไปสู่การจำกัดสิทธิทางศาสนาหลายประการ

 

แม้ชาวมุสลิมฮุยที่กระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศจีนจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่บางครั้งสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการในบางพื้นที่ก็ถูกละเมิด เช่น ชาวมุสลิมฮุยที่อาศัยในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศมักถูกจำกัดสิทธิในการได้หนังสือเดินทาง จนเป็นอุปสรรคใหญ่ในการไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย 

 

ขณะเดียวกัน ชาวฮั่นบางกลุ่มก็เริ่มออกมารณรงค์ต่อต้านอิสลามในหลายๆ มิติ ในดินแดนซินเจียงเอง สถานการณ์ความทุกข์ยากของชาวอุยกูร์ก็เริ่มเป็นที่รับรู้ของประชาคมโลกมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ทางการจีนได้ใช้อำนาจเผด็จการกักขังชาวอุยกูร์จำนวนกว่า 2 ล้านคนในค่ายกักกัน ซึ่งสหประชาชาติเรียกว่า ‘ค่ายกักกันในช่วงสงครามโลก’

 

ปมปัญหาอุยกูร์

 

ปัญหาอุยกูร์ในวงสนทนาของผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษา

ตามการบอกเล่าของนักวิชาการด้านจีนศึกษาบางคนที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วย สรุปความได้ว่า นโยบายของจีนต่อเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ เป็นผลมาจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ตลอดจนสงครามเย็นและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกัน การเติบโตของกระแสแนวคิดการรวมเติร์ก (Pan-Turkism) และแนวคิดการรวมอิสลาม (Pan-Islamism) ในหมู่ชาวอุยกูร์นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้จีนหวาดระแวงถึงขั้นกระทำการรุนแรงต่อชาวอุยกูร์

 

ความสำเร็จของชาวอุยกูร์ในการจัดตั้งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออกได้ในช่วงทศวรรษที่ 1930-1940 แม้จะดำรงอยู่แค่ชั่วคราว แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้จีนหวาดระแวงกระแสแบ่งแยกดินแดนในซินเจียงเรื่อยมา 

 

ขณะเดียวกันการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการแยกตัวเป็นรัฐเอกราชของกลุ่มชนเชื้อชาติเติร์กในเอเชียกลาง 5-6 ประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ก็ยิ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนหวาดเกรงกระแสการเคลื่อนไหว เพื่อแบ่งแยกดินแดนของชาวอุยกูร์ออกจากจีนเหมือนที่เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียต ด้วยเหตุนี้จีนจึงอยู่เฉยไม่ได้ สุดท้ายต้องออกแคมเปญ ‘ต่อต้านสามพลังความชั่วร้าย’ คือลัทธิสุดโต่ง ลัทธิแบ่งแยกดินแดน และลัทธิก่อการร้าย เป้าหมายคือ ป้องกันไม่ให้ชาวอุยกูร์แยกตัวเป็นรัฐอิสระได้

 

หลังเหตุการณ์ 9/11 จีนถูกมองว่า พยายามเดินตามรอยสหรัฐฯ โดยใช้นโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้นโยบายและปฏิบัติการของตนเองในดินแดนซินเจียง จนทำให้โลกมองไม่เห็นประเด็นเรื่องมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดอย่างหนัก มีรายงานว่า ชาวอุยกูร์ทั้งที่เป็นแกนนำและชาวบ้านธรรมดาจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่ทางการจับตา ถูกออกหมายจับ ถูกศาลตัดสินจำคุก หรือแม้กระทั่งถูกประหารชีวิตด้วยข้อหามีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นข้อหาก่อการร้าย ไม่มีใครรู้จำนวนนักโทษทางการเมืองชาวอุยกูร์แน่ชัดที่ยังถูกคุมขังอยู่ในซินเจียงขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีการบังคับให้ชาวอุยกูร์จำนวนมากเข้ามาอยู่ในค่ายกักกันเพื่อปรับทัศนคติ

 

แม้แต่ชาวอุยกูร์ที่ได้รับสัญชาติอื่นไปแล้ว หากถูกจับในดินแดนเอเชียกลาง ก็จะถูกส่งตัวกลับไปให้ประเทศจีน เพราะจีนและกลุ่มประเทศเอเชียกลางมีความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 ถึงปัจจุบัน เราจะเห็นการลุกฮือขึ้นของชาวอุยกูร์ เดินขบวนประท้วงนโยบายการปราบปรามของทางการจีนเป็นระยะๆ ซึ่งก็จะตามมาด้วยการใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดในหลายๆ ครั้ง ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวอุยกูร์กับทางการจีนได้อย่างชัดเจนคือ เหตุการณ์จลาจลในดินแดนซินเจียงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2009 อันทำให้ชาวอุยกูร์จำนวนมากเสียชีวิตและถูกจับกุมคุมขัง

 

ปมปัญหาอุยกูร์

 

สภาพการณ์ของมุสลิมอุยกูร์ผิดแผกแตกต่างไปจากมุสลิมฮุยครับ เพราะนอกจากมุสลิมฮุยจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบอะไรมากนักจากนโยบายของจีนในซินเจียงแล้ว พวกเขายังประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจการค้าในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของซินเจียง โดยเฉพาะในเขตปกครองตนเองของชาวฮุย (Changji Hui Autonomous Region) นักธุรกิจและชาวไร่ชาวนาที่เป็นมุสลิมฮุยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงตลาดเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากชาวฮุยในซินเจียงมีเครือข่ายการค้าและสังคมกับชาวฮุยด้วยกันนอกพื้นที่ซินเจียงอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญคือ ชาวฮุยเหล่านี้พูดภาษาจีนและมีวิถีทางวัฒนธรรมแบบจีน ซึ่งแตกต่างจากชาวอุยกูร์ที่ทั้งภาษาและวัฒนธรรมเป็นแบบชาวเติร์ก

 

ตรงนี้สำคัญ เพราะสำหรับชาวมุสลิมฮุยแล้ว การเรียนรู้และใช้ภาษาจีนถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันกับชาวจีนฮั่นและเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสให้ตนเอง แต่สำหรับชาวอุยกูร์แล้ว การเรียนรู้ภาษาจีน วัฒนธรรมจีน กลายเป็นเรื่องของการยอมอ่อนข้อให้กับรัฐที่มีนโยบายกลืนกินวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์มาตลอด ขณะที่สำหรับชาวมุสลิมฮุยแล้ว อัตลักษณ์ที่พวกเขารู้สึกแตกต่างกับชาวจีนฮั่นประการเดียวคือ ศาสนาอิสลาม แต่สำหรับมุสลิมอุยกูร์แล้ว นอกจากศาสนาที่มีความแตกต่างแล้ว พวกเขายังพยายามขับเน้นเรื่องความแตกต่างทางอัตลักษณ์ว่าด้วยเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมอีกด้วย

 

ไม่ว่าปมปัญหาอุยกูร์จะเป็นไปตามการอธิบายของนักวิชาการด้านจีนศึกษาหรือไม่ ความจริงอย่างหนึ่งที่เผยออกมาชัดเจนคือ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีคลื่นผู้อพยพชาวอุยกูร์หลั่งไหลออกจากประเทศจีนจำนวนมาก สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวอุยกูร์ต้องหลบหนีจากบ้านเกิดของตนไปสู่ดินแดนอื่นคือ การถูกริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต 

 

เมื่อถามว่า ทำไมต้องอพยพหลบหนีจากซินเจียง คำตอบก็คือ พวกเขาไม่สามารถอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดได้อีกต่อไป ชายชาวอุยกูร์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ภรรยาของผมไม่สามารถใช้ผ้าฮิญาบคลุมผม พวกเราถูกห้ามไม่ให้อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน หรือแม้แต่การละหมาดก็ไม่ได้รับการอนุญาต” 

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน www.msri.org.my

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X