×

ม.หอการค้า ห่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำ GDP ไทยวูบ 2 แสนล้าน จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี

15.09.2022
  • LOADING...

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ Chamber Business Poll ที่สอบถามความเห็นของภาคธุรกิจต่อผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยพบว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและกำไร เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมีเพียงสหรัฐฯ ประเทศเดียวที่ GDP เติบโตติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนจีนติดลบเพียงไตรมาสเดียว ขณะที่ยุโรปและอินเดียยังขยายตัวเป็นบวก

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่คู่ค้าไทยอย่างสหรัฐฯ และจีน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจมากที่สุดในขณะนี้คือค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันแพง อันเป็นผลมาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อและมีผลต่อการขึ้นดอกเบี้ย โดยจากการสำรวจพบว่าการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนสูง กำไรหดหาย ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าปัจจัยอื่น

 

“เรามองว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเป็นสิ่งที่เหมาะสมในการประคองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของไทย เพื่อที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว” รศ.ดร.ธนวรรธน์ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า ในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ผลดังกล่าวจะส่งผ่านปริมาณการค้าโลกและความมั่งคั่ง โดยคาดว่าปริมาณการค้าโลกจะลดลง 1-2% ทำให้การส่งออกไทยลดลง 185,596 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคเอกชน การลงทุนเอกชน และการนำเข้าสินค้าลดลง ทำให้ GDP ไทยสูญไปประมาณ 200,282 ล้านบาท หรือฉุดลง 1.22%

 

นอกจากนี้ความมั่งคั่งในมูลค่าสินทรัพย์จะลดลง 6% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดโควิด ทำให้การบริโภคและการลงทุนของเอกชนลดลง ทำให้ GDP ไทยสูญไปประมาณ 35,157 ล้านบาท หรือฉุดลง 1.43%

 

นอกจากนี้ยังมี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 ได้แก่

 

  1. อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
  2. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
  3. ค่าเงินบาทอ่อนค่า
  4. การปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และ
  5. ความเสียหายจากน้ำท่วม

 

ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสีย GDP ได้ถึง 0.88%

 

รศ.ดร.ธนวรรธน์คาดว่า การเติบโตของการส่งออกไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 5-6% โดยประมาณ โดยมองว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันเป้าหมายที่ 4% สะท้อนว่าการส่งออกอาจจะขยายตัวไม่สูง อีกทั้งหากทางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย 1% จนเงินบาทอ่อนตัวทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ (ปัจจุบันอยู่ที่ 36.5-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยที่ไทยยังนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงอยู่ อาจทำให้ดุลการค้าติดลบได้อย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงหรือมากกว่า 10 ล้านคน จากประมาณการเดิม 6 ล้านคน ก็จะช่วยหักล้าง (Offset) ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวไปได้เกือบทั้งหมด ทำให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะถูกพัดเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจกว่า 2.4 แสนล้านบาท

 

สำหรับปีหน้า ทางศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตอยู่ในกรอบที่ 3-3.5% และยังคงตัวเลขการขยายตัวของ GDP ไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.14% โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯ จะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน หลังจากรับรู้ความรุนแรงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และเห็นภาพสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในแต่ละประเทศว่าจะซึมตัวลงแค่ไหนชัดเจนขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X