×

หอการค้าฯ ผนึก 40 ซีอีโอ เสนอ 4 แนวทางรับมือโควิดต่อนายกฯ ชงตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเลียนแบบสิงคโปร์

21.07.2021
  • LOADING...
ซีอีโอ

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือผ่านระบบ Video Conference ของคณะผู้บริหารหอการค้าไทย และ 40 CEOs พลัส กับนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงและกังวลเรื่องการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยและซบเซาอย่างมาก

 

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและภาคเอกชน 40 CEOs พลัส พร้อมที่จะสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกันกับภาครัฐ โดยการหารือในครั้งนี้ภาคเอกชนพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น สำหรับเป็นแนวทางวางแผนเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เสนอแนวทางและความคิดเห็น 4 ประเด็น ดังนี้

 

  1. ด้านการควบคุมการแพร่ระบาด ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐจัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชน ร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้

 

ขณะเดียวกันภาครัฐควรจัดให้มี Rapid Test อย่างทั่วถึง, สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation, จัดให้มียารักษาอย่างพอเพียงและเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม

 

  1. ด้านการเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐขยายมาตรการที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เกินกว่า 90 วัน ให้ได้รับการช่วยเหลือ 

 

พร้อมกันนี้อยากให้ภาครัฐเร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ด้วยการเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ, เร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี, เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 5 แสนราย พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการนำแรงงานใหม่เข้ามา โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิดอย่างเคร่งครัด และเร่งตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อป้องกันภาคการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก

 

  1. ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐควรกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้และผู้มีกำลังซื้อสูงด้วยการนำมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส

 

นอกจากนี้ควรกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่มผ่านดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำพิเศษจากสถาบันการเงินและสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล และ BOI ซึ่งจะทำให้ภาคการลงทุนคึกคักและเกิดการจ้างงานหลายแสนราย

 

ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐและทบทวนความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy โดยกำหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเฉพาะธุรกิจบางประเภท และกำหนดโครงสร้างฐานภาษีใหม่

 

  1. ด้านการฟื้นฟูประเทศไทย ภาคเอกชนมองว่าควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด โดยมีตัวอย่างความร่วมมือของ Alliances for Actions (AfA) จากประเทศสิงคโปร์ มุ่งเป้าความสำเร็จในเรื่องที่มีอิมแพ็กสูงและคนไทยได้ประโยชน์ เช่น เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง การศึกษายุคใหม่ และ Food for Future เป็นต้น

 

นอกจากนี้อยากให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย Digital Transformation โดยเสนอให้มี Super App. ที่ช่วยอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ซึ่งต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนและกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจน

 

สนั่นเปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ภาคเอกชนได้นำเสนอและแสดงความคิดเห็น นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางและนโยบายเพิ่มเติมเพื่อการบูรณาการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนว่า ภาครัฐก็ยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน โดยรัฐบาลพร้อมเปิดโอกาสให้เอกชนช่วยเจรจาหาวัคซีนที่ดี มีคุณภาพ เสริมจากที่ทางรัฐบาลได้เตรียมการไว้ เพื่อให้ประชาชนได้วัคซีนเร็วที่สุด สำหรับประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนที่ได้มีการหารือในวันนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และข้อเสนอแนะของ 40 CEOs พลัส นายกฯ ได้รับไว้และจะพิจารณาดำเนินการร่วมกันต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising