ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ลงเหลือ 3.1% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.2% ในเดือนพฤศจิกายน 2564 พร้อมคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้ 6.3% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 5.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.5% เป็น 6%
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยแบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้
- กรณีฐาน (Base Case): การปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะรองรับได้ โดยในกรณี Base Case นี้คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.1% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ 60%
- กรณีที่ดีกว่า (Better Case): ราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยในกรณี Better Case นี้ คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.5% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 10%
- กรณีที่แย่กว่า (Worse Case): คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบง.) ทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 40 บาทต่อลิตร ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ทั้ง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% โดยในกรณี Worse Case นี้คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.9% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 20%
- กรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case): เป็นกรณี Worse Case รวมกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงเกินกว่า 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากกรณีฐาน โดยในกรณี Worst Case นี้ คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.3% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 10%
ธนวรรธน์ระบุว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลทุก 1 บาทต่อลิตร จะมีผลกระทบต่อ GDP -0.2% ขณะที่การขึ้นราคาเบนซินทุก 1 บาทต่อลิตร มีผลกระทบต่อ GDP -0.1% ทั้งนี้ หากนับจากต้นปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันของไทยมีการปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 10 บาท ซึ่งมีผลต่อ GDP ประมาณ 1% ทำให้ศูนย์พยากรณ์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้จาก 4.2% ลงมาอยู่ที่ 3.1%
สำหรับปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีดังนี้
- สงครามรัสเซียยูเครนทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
- การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังคงยืดเยื้อมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
- ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- ปัญหาของการขาดแคลนสินค้าในห่วงโซ่การผลิตมีผลต่อการส่งออก
- เศรษฐกิจจีนยังคงมีความไม่แน่นอน โดยมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงหลังการระบาดของโควิด จนต้องใช้มาตรการ Zero-COVID
- ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจมีผลต่อการค้าโลกอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย ได้แก่
- จำนวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง
- การผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด
- ภาคเอกชนในประเทศเริ่มกลับมาใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค-บริโภคอีกครั้ง
- ภาครัฐมีการออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
- ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงในปี 2565 มีแนวโน้มลดลง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP