×

กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี พลังอำนาจทางทะเลของโลก เรือแต่ละลำสำคัญอย่างไร มีหน้าที่อะไร

27.04.2024
  • LOADING...
USS Theodore Roosevelt

“เมื่อข้อความแห่งวิกฤตเข้ามาในวอชิงตัน มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คำถามแรกที่ออกมาจากปากของทุกคนคือ เรือบรรทุกเครื่องบินที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน”

 

คำพูดนี้สะท้อนความสำคัญและพลานุภาพของมันได้เป็นอย่างดี เป็นคำกล่าวของประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1993 บนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt (CVN 71) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ชั้น Nimitz ของกองทัพเรือสหรัฐฯ 

 

เรือลำเดียวกันนี้เองเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อแวะพักพร้อมกับเรือลำอื่นในกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 9 อีก 4 ลำ คือ USS Russell, USS Daniel K. Inouye, USS Halsey และ USS Howard เพื่อให้ทหารเรือกว่า 6,000 คนพักผ่อนและรับการส่งกำลังบำรุงที่ท่าเรือแหลมฉบังในจังหวัดชลบุรี

 

USS Theodore Roosevelt เป็นหนึ่งในเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Nimitz จำนวน 10 ลำที่ประจำการอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐฯ และยังมีเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นใหม่ที่มาทดแทนคือ เรือ USS Gerald R. Ford เข้าประจำการแล้วเป็นลำแรก และจะต่อเข้าประจำการให้ครบ 10 ลำเพื่อทดแทนเรือชั้น Nimitz ทั้งหมด

 

เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นองค์ประกอบสำคัญของกองทัพเรือสหรัฐฯ และเป็นเครื่องมือทางทหารที่ทรงอานุภาพที่สุดที่มีแต่ประเทศมหาอำนาจเท่านั้นที่จะสามารถมีได้

 

สาเหตุง่ายๆ เลยคือเพราะมันแพง มันแพงไปหมดตั้งแต่ขั้นตอนสร้างไปจนถึงตอนใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น เรือ USS Gerald R. Ford ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นใหม่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้งบประมาณในการต่อสูงถึง 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.7 แสนล้านบาท และจ่ายค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานปีละกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 3.7 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเรือรบที่แพงที่สุดเท่าที่เคยถูกต่อออกมา 

 

นี่ยังไม่นับเครื่องบินรบ เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือน เครื่องบินลำเลียง และเฮลิคอปเตอร์ อีกเกือบ 80 ลำที่ต้องใช้เงินอีกเกือบ 4 แสนล้านบาท แม้แต่จีนเองที่เชื่อว่าทำอะไรได้ถูกกว่าคนอื่นทุกอย่างยังเชื่อกันว่าต้องจ่ายถึงเกือบ 9 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

 

ดังนั้นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ถือเป็นเรือรบที่มีพลังอำนาจในการรบสูงสุดในทะเลจึงต้องได้รับการคุ้มกันอย่างดี จึงเป็นที่มาของการที่ต้องมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี ซึ่งประกอบกำลังจากเรือหลายชนิด เพื่อให้เรือบรรทุกเครื่องบินสามารถปฏิบัติงานได้ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด

 

กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี หรือ Carrier Strike Group ของสหรัฐอเมริกาจะประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ พร้อมฝูงบินแบบต่างๆ อีกสูงสุด 9 ฝูงบิน พร้อมเรือผิวน้ำที่ทำหน้าที่ป้องกันภัยทางอากาศและผิวน้ำให้กับเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งอาจจะเป็นเรือลาดตระเวนชั้น Ticonderoga หรือเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke รวม 3-5 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่ติดตั้งระบบอำนวยการรบ Aegis และมีขีดความสามารถในการยิงจรวด ทั้งจรวดต่อสู้อากาศยานอย่าง ESSM และจรวดที่มีขีดความสามารถในการต่อต้านขีปนาวุธ เช่น SM-2ER, SM-3, SM-6 หรือแม้แต่จรวดร่อนอย่าง Tomahawk อย่างเช่น ในกรณีของเรือ USS Theodore Roosevelt ที่มาแวะพักในประเทศไทยในครั้งนี้ก็มาพร้อมเรือคุ้มกัน 4 ลำเช่นกัน

 

เรือคุ้มกันมีหน้าที่ทำการรบเสริมกับอากาศยานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เช่น การปราบเรือดำน้ำ การต่อสู้กับเรือผิวน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือในการยิงสกัดจรวดต่างๆ ที่หลุดรอดเข้ามาในกองเรือ ยิ่งหลักการโจมตีเรือรบในสมัยนี้จะใช้การยิงจรวดจำนวนมากๆ เพื่อทำให้ระบบป้องกันภัยของเรือไม่สามารถรับมือได้อยู่ (Saturation Attack) เรือคุ้มกันเหล่านี้จึงต้องยิงจรวดเพื่อสกัดให้ได้ทีละหลายๆ นัด

 

นอกจากนั้นยังมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ราว 1-2 ลำในภารกิจ ทั้งการต่อต้านเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ แต่การเดินทางมักจะเป็นความลับ ไปจนถึงเรือส่งกำลังบำรุงสำหรับเพิ่มเติมน้ำมัน อาวุธ กระสุน และสิ่งสนับสนุนต่างๆ ที่เรือและเครื่องบินในกองเรือจำเป็นต้องใช้งานอีกด้วย

 

ในการปฏิบัติงานจริง เรือคุ้มกันจะไม่ได้อยู่ข้างเรือบรรทุกเครื่องบินทุกลำ แต่จะมีบางลำเดินทางห่างออกไปจากกองเรือหลัก เพื่อทำหน้าที่เป็นฉากแรกในการสกรีนการบุกของฝ่ายตรงข้ามด้วย

 

ในสงครามขนาดใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการบุก สหรัฐอเมริกามักจะใช้กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีหลายกองเรือเข้าไปลอยลำในน่านน้ำของประเทศเป้าหมาย เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นเสมือนฐานบินลอยน้ำที่สามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก และใช้เครื่องบินรบในการเริ่มปฏิบัติการและเข้าครองอากาศตามหลักการสงครามที่ว่า การที่ผู้ใดครองอากาศได้จะมีความได้เปรียบในการทำสงคราม โดยเครื่องบินขับไล่บนเรือบรรทุกเครื่องบินจะประกอบไปด้วยเครื่องบิน F/A-18E/F และ F-35C ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องบินขับไล่ นอกจากนั้นยังมี F/A-18G ทำหน้าที่เป็นเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์และกดดันระบบป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึก นอกจากนั้นยังมีเครื่องบินควบคุมและสั่งการ E-2D ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนควอเตอร์แบ็กในการควบคุมสงครามทางอากาศจากเรือบรรทุกเครื่องบิน

 

ถ้าถามว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 1 กองเรือนั้นมีศักยภาพมากขนาดไหน อยากให้ลองหลับตานึกถึงกองทัพอากาศและกองทัพเรือไทยเราจะพบว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ บรรทุกเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ที่มีจำนวนมากพอๆ กับกองทัพอากาศไทยทั้งกองทัพ ส่วนเรือผิวน้ำที่ทำหน้าที่คุ้มกันจำนวน 3-5 ลำนั้นมีขนาดใหญ่พอๆ กับเรือหลวงจักรีนฤเบศรหรือใหญ่เป็น 2 เท่าของเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นเรือฟริเกตที่ดีที่สุดของไทย รวมถึงเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยก็ไม่มี ยังไม่นับว่าทั้งเรือและอากาศยานของกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีมีความทันสมัยกว่าเรือและอากาศยานของไทยแบบเทียบกันไม่ได้

 

จึงไม่น่าแปลกที่กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีจะต้องมีนายทหารยศพลเรือตรีเป็นผู้บัญชาการ ซึ่งจะเดินทางไปกับกองเรือตลอดเวลา โดยกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีจะขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการกองทัพเรือหลักของกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 9 ของ USS Theodore Roosevelt นี้ขึ้นการบังคับบัญชากับผู้บัญชาการกองทัพเรือที่ 7 ยศพลเรือโท ซึ่งดูแลน่านน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียทั้งหมด

 

เรือบรรทุกเครื่องบินจึงเป็นพลังอำนาจขั้นสูงสุดที่ยากจะมีใครต้านทาน โดยมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่แบบนี้ประจำการ และถ้าเรายังเชื่อทฤษฎีที่ว่า ผู้ที่ควบคุมทะเลคือผู้ที่ควบคุมโลก เรือบรรทุกเครื่องบินจึงยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในการเสริมสร้างพลังอำนาจและแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติตนไปอีกนาน

 

ภาพ: Anthony J. Rivera / US NAVY / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X