ความหนาวเย็นที่แผ่ซ่านไปทั่วภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไม่เพียงแต่นำมาซึ่งอากาศที่หนาวเย็นเท่านั้น แต่ยังสร้างความทุกข์ยากและความลำบากให้กับชาวบ้านหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในชุมชนที่ห่างไกลและทุรกันดาร การเข้าถึงสิ่งของพื้นฐาน เช่น เสื้อผ้าหนาๆ และผ้าห่ม เพื่อความอบอุ่นในช่วงหนาวนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก
กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘ไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว’ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 24 ปีเต็ม ที่ได้สานต่อปณิธานแห่งการ ‘ให้’ ของประธานเจริญและรองประธานคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่ได้กล่าวไว้ว่า “คนไทยให้กันได้”
สำหรับปีนี้การดำเนินการของโครงการ ‘ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก’ เริ่มจากการรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการคัดแยกและรีไซเคิลขยะพลาสติก โดยเฉพาะขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้ว ผ่านกิจกรรม ‘จากผู้รับสู่ผู้ให้’ โดยชุมชนที่ได้รับผ้าห่มจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้รับฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่พวกเขายังได้กลับมาเป็นผู้ให้ด้วย โดยทางชุมชนได้รวบรวมขวดพลาสติกส่งกลับมาให้ทางโครงการเพื่อนำไปผลิตเป็น ‘ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก’ โดยที่ผ่านมาชุมชนทั้ง 15 จังหวัดรวบรวมขวดพลาสติกได้มากถึง 1.2 ตัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกนำไปผลิตเป็นผ้าห่มสำหรับแจกให้ผู้ประสบภัยหนาวในปีหน้า
โดยกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งต่อความอบอุ่นให้กับผู้ที่ประสบภัยหนาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ด้วย
ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการ คือเสียงที่สะท้อนมาจากผู้ที่ได้รับความอบอุ่น ไม่ว่าจะเป็น อาจัว-มธุรดา เลาว้าง จากเด็กน้อยชาวมุ้งวัย 4 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกลและหนาวจัดบนยอดดอยตุง ปัจจุบันอายุ 24 ปี เด็กหญิงชาวม้งผู้เคยได้รับผ้าห่มและโอกาสจากทุนการศึกษาของไทยเบฟ ที่วันนี้ได้รับโอกาสให้เป็นทูตของโครงการฯ จากครั้งหนึ่งที่เคยเป็นผู้รับ ในวันนี้เธอได้กลับมาเป็นผู้ให้และเป็นตัวแทนพูดถึงกิจกรรม ‘จากผู้รับสู่ผู้ให้’
“เห็นเลยว่าชาวบ้านให้ความสนใจกันมาก และอยากจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรม บางคนหลังจากเสร็จงานเขาก็เดินมาบอกว่าขอไปเอาขวดมาให้เพิ่มนะ เหมือนกับว่าเขาได้ร่วมทำบุญ เขาเต็มใจที่จะให้ ก็อยากจะขอเชิญชวนให้ทุกคนมารวมพลังกัน ‘ลงมือทำ’ และตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เพราะเราสามารถนำขวดพลาสติก PET จำนวน 38 ขวด เข้าสู่กระบวนการรีดเส้นใย rPET สามารถที่จะถักทอให้กลายมาเป็น ‘ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก’ ได้จำนวน 1 ผืน
“และเราทุกคนยังสามารถที่จะร่วมกันนำขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาสู่กระบวนรีไซเคิลได้ปีละจำนวน 7,600,000 ขวด เพื่อผลิตผ้าห่มรักษ์โลกได้มากถึง 200,000 ผืนต่อปี จนถึงวันนี้เราสามารถนำขวดพลาสติกกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลได้แล้วทั้งสิ้น 30,400,000 ขวด ที่ได้ถักทอความอบอุ่นมาเป็น ‘ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก’
ขณะที่ กอบศักดิ์ แช่ม้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 26 ตำบลโกสัมพี “ขอเป็นตัวแทนชาวบ้านทุกคนขอบคุณโครงการไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว โดยเฉพาะโครงการเก็บเอาขวดน้ำกลับมารีไซเคิลเพื่อทำผ้าห่ม ผมเองเพิ่งรู้ว่าสามารถทำได้ ก็สงสัยว่ามันทำได้จริงเหรอ พลาสติกผลิตเป็นผ้าห่มได้ด้วยเหรอ เลยได้ช่วยแจ้งให้ชาวบ้านเขาเก็บขวดมาให้กับทางโครงการ ‘จากผู้รับสู่ผู้ให้’ รู้สึกดีมากที่พวกเราจะได้กลายเป็นผู้ให้และมีโอกาสได้ส่งต่อความปรารถนาดีนี้ไปยังพี่น้องคนอื่นๆ ให้เขาได้รับความช่วยเหลือและความอบอุ่นจากผ้าห่มรักษ์โลกเหมือนกับเราในวันนี้”
ส่วน ปัง-สวรรยา แซ่จ้าง อายุ 10 ขวบ พูดความรู้สึกว่า “ดีใจมากค่ะที่ได้รับผ้าห่มวันนี้ แถมยังมีทั้งขนมทั้งไอศกรีมมาแจกพวกเราอีกเพียบเลยค่ะ ดีใจที่ได้เก็บขวดมาให้โครงการ ‘จากผู้รับสู่ผู้ให้’ เพื่อที่จะต่อสิ่งดีๆ นี้ให้กับเพื่อนๆ ที่ต้องเจอกับความหนาวเย็น และอยู่ห่างไกลความเจริญแบบเรา เพราะคุณครูสอนว่าเพียงแค่ขวดพลาสติกที่สะสมครบ 38 ขวดก็จะสามารถนำไปทำเป็นผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ช่วยโลกได้ ไม่ทำให้ขยะล้นโลก อยากให้ทุกคนส่งต่อความอบอุ่นนี้ไปยังเพื่อนๆ ที่เดือดร้อนเหมือนกันกับพวกเรา”
ปิดท้ายด้วยคุณยายปั่น หน่อใหม่ อายุ 82 ปี และคุณยายพุทธชาด บุญเทพ อายุ 73 ปี ที่ได้จูงกันมารับมอบผ้าห่ม และรับอาหารที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมเผยด้วยความดีใจว่าคุณยายอายุ 82 ปีแล้ว เดินเหินไม่คล่อง ต้องใช้ไม้เท้าพยุง แต่ก็ตั้งใจมารอรับความช่วยเหลือในวันนี้ รู้สึกดีใจที่คนไทยด้วยกันมีความเอื้ออาทรต่อกัน นอกจากผ้าห่มยังมีอาหาร มีตรวจสุขภาพ และยายยังเห็นเด็กๆ ลูกหลานเก็บขวดเอามาให้กันคนละไม้ละมือ รู้สึกดีใจและขอขอบคุณมาก
ในที่สุด โครงการ ‘ไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว’ ของไทยเบฟได้สร้างผลกระทบที่สำคัญในหลายด้านในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยหนาว การส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างวัฒนธรรมของการให้และการแบ่งปัน โครงการนี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมค่านิยมของการมีส่วนร่วมและความห่วงใยในหมู่ชุมชน
ผ่านการนำขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นผ้าห่ม โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นว่าการรีไซเคิลและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้โครงการยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้และการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ
ในขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำความดีผ่านวิธีการที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยหนาวในช่วงเวลายากลำบากเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาวเพื่อสังคมที่ยั่งยืนและร่วมมือกัน ท้ายที่สุด ‘ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก’ ของไทยเบฟไม่เพียงแต่เป็นการส่งมอบความอบอุ่นในทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งต่อความอบอุ่นทางจิตใจและความสุขให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย