×

ภาวะซบเซาของตลาดรถยนต์ใช้แล้วกระทบอย่างไรกับตลาดรถยนต์ใหม่

18.08.2024
  • LOADING...

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย จากการที่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยและได้รับการตอบรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 ที่มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 9.5 พันคัน และในปี 2566 มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 7.57 หมื่นคัน มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นกว่า 690% และคาดการณ์ว่าในปี 2567 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.3 หมื่นคัน ในขณะเดียวกันการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้านับเป็นสินค้าทดแทน (Substitute Goods) รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปซึ่งเป็นกลุ่มรถยนต์เดิมในตลาด ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ไทยในรูปแบบของผลกระทบหลายระลอก (Unceasing Waves) กดดันให้ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2567 อาจเป็นปีแรกในรอบกว่า 17 ปีที่มียอดขายรถยนต์ใหม่ต่ำกว่า 7 แสนคัน และเป็นการสร้างแรงกดดันในรูปแบบการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกับพฤติกรรมของผู้บริโภค (Structural Changes in Consumer Behavior) แบบฉับพลันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

สงครามราคาในตลาดรถยนต์ ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับตลาดยานยนต์ไทย

 

ธุรกิจรถยนต์ไทยเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีอำนาจผูกขาดทางอ้อมจากนโยบายภาษีรถยนต์ของไทย ทำให้กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศมีอำนาจผูกขาดในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการนำเข้ารถยนต์จะต้องเสียภาษีอากรในอัตราที่สูงถึง 30-80% ซึ่งราคาดังกล่าวนับเป็นฐานในการคิดภาษีสรรพสามิตในอัตรา 30-50% ที่จะใช้เป็นฐานการคำนวณภาษีสรรพสามิตตามกรณีต่างๆ ของรถยนต์ รวมถึงภาษีมหาดไทยในอัตรา 10% ที่คิดจากภาษีสรรพสามิตที่ผู้นำเข้าเสียมากกว่าจากฐานที่สูงกว่า

 

นอกจากนี้ราคาและต้นทุนภาษีทั้งหมดยังถูกทำให้กว้างขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่ผู้นำเข้าจะมีต้นทุนเมื่อรวมภาษีต่างๆ ที่สูงมากกว่า ส่งผลให้ในภาพรวมการนำเข้ารถยนต์หนึ่งคันที่แม้ต้นทุนการผลิตที่เท่ากันกับการผลิตในประเทศ แต่ต้นทุนขายของรถยนต์นำเข้าจะสูงกว่าราว 40-80% (ขึ้นอยู่กับราคาและอัตราภาษีที่แตกต่างกัน) จึงทำให้ราคาตั้งต้นของรถยนต์ใหม่ที่ขายในประเทศอยู่ในระดับสูง และเป็นที่มาของรถยนต์ในไทยทำไมมีราคาที่สูงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ

 

อย่างไรก็ดี อำนาจผูกขาดดังกล่าวที่ผู้ผลิตยานยนต์เริ่มถูกลดทอนลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลให้รถยนต์ก้าวผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีผู้ผลิตรายใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์คือประเทศจีน ที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จากแต่เดิมผู้ผลิตรถยนต์จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป

 

ทั้งนี้ บนบริบทภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน รถยนต์ไฟฟ้าที่แต่เดิมมีสัดส่วนการนำเข้ายังไม่สูงนักและยังถูกจัดอยู่ในหมวดที่ได้รับการยกเว้นภาษี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำสงครามราคาของผู้ผลิตจีนโดยใช้ช่องว่างดังกล่าวโจมตีการตั้งราคาของกลุ่มเครื่องยนต์สันดาปเดิมที่มีอำนาจตลาดสูงจากข้อได้เปรียบจากภาษีนำเข้าที่มีอัตราสูง ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ถูกคิดภาษีนำเข้าผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และจากภาษีสรรพสามิตที่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ถูกคิดในอัตราเพียง 2% ส่งผลให้แม้รถยนต์ที่ราคาต้นทุนการผลิตที่เท่ากัน แต่รถไฟฟ้าที่นำเข้ากลับมีต้นทุนที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ขายในประเทศราว 30-40% (ซึ่งยังไม่รวมผลของการสนับสนุนผ่านมาตรการ EV 3.5) ส่งผลให้ราคาเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ขายในท้องตลาดถูกกว่าราว 15-30% รวมถึงหลังจากวางขายในช่วงแรกยังมีการปรับลดเพื่อทำการตลาดที่ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นอาจถูกกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปถึงกว่า 40%

 

เมื่อเกิดสงครามราคาในตลาดรถใหม่ ตลาดรถใช้แล้วย่อมได้รับแรงปะทะโดยตรง

 

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะที่รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเป็นสินค้าทดแทน (Substitute Goods) การที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าใหม่ตั้งราคาถูกกว่ารถยนต์ทั่วไปราว 15-30% อาจไม่ส่งผลต่อราคารถยนต์ใหม่อย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น แต่กลับส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ใช้แล้วทันที เนื่องจากในช่วงก่อนที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาด รถยนต์ใช้แล้วในช่วง 3-5 ปีแรก ระดับราคาจะอยู่ในช่วงที่ลดลงจากรถใหม่เฉลี่ยราว 30% ซึ่งอาจเป็นส่วนลดที่พอจะจูงใจให้คนกลุ่มที่งบประมาณน้อยสามารถเลือกรุ่นรถที่ต้องการ หรืออาจมีงบไม่เพียงพอสำหรับรถใหม่แต่ราคารถยนต์ใช้แล้วที่ปรับลดลงมาอาจยังอยู่ในความสามารถที่หาซื้อได้

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในไทยด้วยราคารถใหม่ที่ต่ำกว่า 15-30% กลุ่มรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปประเภทใช้แล้วที่อยู่ในช่วงราคาที่ลดลงจากราคารถใหม่ 30% อาจถูกท้าทายในความรู้สึกของผู้บริโภคว่าหากมีงบประมาณที่เท่ากันอาจไม่จำเป็นที่ต้องซื้อรถยนต์ใช้แล้ว โดยหันไปหารถยนต์ไฟฟ้าใน Segment เดียวกันแทน ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ใช้แล้วเกิดแรงกดดัน จึงต้องทำราคาเพื่อให้เกิดช่องว่างเพียงพอ โดยลดราคาลงจากราคารถใหม่เพิ่มเป็น 40-50% เพื่อจูงใจให้คนยังตัดสินใจซื้อรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปใช้แล้วแทนที่จะหันไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

 

ttb analytics มองจากราคาที่ปรับลดในตลาดรถยนต์ใช้แล้ว ผู้บริโภคจะเลื่อนการเปลี่ยนรถ เหตุจากราคารับซื้อต่ำ กระทบทางอ้อมต่อยอดขายรถใหม่

 

ด้วยการทำสงครามราคาของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งราคาต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปใหม่ราว 15-30% ของราคารถใหม่เปิดตัว กดดันให้ราคาขายในตลาดรถยนต์ใช้แล้วต้องปรับลดให้ต่ำลง 40-50% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ใหม่ จากบริบทการใช้รถยนต์ของคนไทยที่นับว่ารถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่มีราคาอันมีสภาพคล่องสูง โดยที่ผ่านมาจะมีผู้ใช้รถบางส่วนเลือกเปลี่ยนรถยนต์ใหม่หลังจากใช้งาน 4-5 ปี และขายรถยนต์คันเดิมให้กับผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งปกติรถยนต์ใช้แล้วจะมีราคาขายต่ำกว่ารถใหม่ราว 30% นั่นหมายถึงราคาสุทธิที่ผู้ขายรถยนต์จะได้รับจากผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วราว 60-65% ขึ้นอยู่กับสภาพของรถยนต์และสภาพคล่อง แต่ด้วยสถานการณ์จากการเข้ามาทำการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า ราคารถยนต์ใช้แล้วอาจถูกกดดันให้ต้องลดลงเหลือเพียง 40-50% ของราคารถยนต์ใหม่ ย่อมกดดันให้ราคาที่ผู้ประกอบการรับซื้ออาจต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคารถยนต์ใหม่

 

ดังนั้นจากราคารับซื้อรถยนต์ใช้แล้วที่ถูกกดดันจากสงครามราคาที่เริ่มจากกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้ราคารับซื้อรถยนต์ใช้แล้วลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ย่อมส่งผลให้ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนรถยนต์ขายรถคันเดิมเพื่อเป็นเงินทุน เริ่มรู้สึกถึงความไม่คุ้มค่าและเสียดายกับราคาที่หายไป โดยอาจลดความเสียดายนั้นผ่านการยืดเวลาการใช้รถออกไปอีกราว 1-2 ปี โดยที่ค่าเสื่อมราคาเริ่มมีอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 4-5 ปีแรก และทำให้ตลาดรถยนต์ใหม่จากเดิมที่มีผู้เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ใหม่ในช่วง 5 ปีประมาณ 20% มีอัตราลดลงเหลือเพียง 10% ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ใหม่จะหายไปกว่า 1 แสนคัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising