การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าทำสถิติในรอบ 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดเพียงแค่สัปดาห์เดียวเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 7 พันล้านดอลลาร์
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศล่าสุดของไทย ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 โดยพบว่า ทุนสำรองฯ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 6,210 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3% โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (4 พฤศจิกายน) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 202,610 ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 208,820 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
ส่วนฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ระดับ 236,920 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7,160 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.1%
อย่างไรก็ดี หากนับจากต้นปีที่ผ่านมา (YTD) เงินทุนสำรองฯ ไทยได้ปรับลดลงไปแล้วกว่า 3.55 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 17% โดย ธปท. ได้ชี้แจงถึงสาเหตุของทุนสำรองฯ ที่ลดลงว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- ผลตอบแทนการลงทุน
- การตีมูลค่าสินทรัพย์ (Valuation)
- การดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท.
ขณะเดียวกันยังชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองฯ ไทยนับจากต้นปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของ ธปท. แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation) ของเงินทุนสำรองฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนไหวของเงินสกุลดอลลาร์และราคาทองคำ
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ปัจจุบันไทยมีระดับเงินทุนสำรองฯ สูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลก โดยจีนนับเป็นประเทศที่มีทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลกที่ราว 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่ 9.5 แสนล้านดอลลาร์
ขณะที่ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า นับจากต้นปีที่ผ่านมาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับลดลงรวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 7.8% ซึ่งนับเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2003 โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าทุนสำรองฯ ลดลงมากที่สุดราว 2 แสนล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ลดลง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่ลดลง 1.4 แสนล้านดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ