×

สหรัฐฯ หนุนละเว้นทรัพย์สินทางปัญญาวัคซีนโควิด-19 เปิดทางประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงสิทธิบัตร เพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้เพียงพอ

06.05.2021
  • LOADING...
ทรัพย์สินทางปัญญา วัคซีนโควิด-19

สหรัฐฯ ออกมาสนับสนุนแนวคิดริเริ่มบนเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) ในการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มอุปทานวัคซีนที่กำลังขาดแคลนในหลายประเทศทั่วโลก

เมื่อวานนี้ (5 พฤษภาคม) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แสดงท่าทีให้การสนับสนุนแนวคิดในการสละสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิด-19 ท่ามกลางแรงกดดันจากสมาชิกเดโมแครตในสภาคองเกรสและอีกกว่า 100 ประเทศที่กำลังรอคอยวัคซีน ขณะที่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่บริษัทยาด้วย

 

สำหรับประเทศที่ผลักดันแนวคิดยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิด-19 นั้นคืออินเดียและแอฟริกาใต้ ซึ่งมองว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มีความกังวลมากขึ้นว่าการระบาดใหญ่ในอินเดียอาจทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานวัคซีนแพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งจะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยข้อมูลระบุว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีการรายงานทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้นเป็นเคสที่อินเดียในสัดส่วนถึง 46%

 

ท่าทีของไบเดนได้รับการสนับสนุนจาก แคเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งระบุในแถลงการณ์ว่า “เวลานี้เป็นวิกฤตด้านสุชภาพระดับโลก ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่พิเศษนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษออกมารองรับ”

 

ด้าน ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า การตัดสินใจของไบเดนเป็น “ช่วงเวลาที่น่าจดจำในการต่อสู้กับโควิด-19” และว่ามันสะท้อน “สติปัญญาและความเป็นผู้นำทางศีลธรรมของสหรัฐอเมริกา”

 

อย่างไรก็ตามบริษัทยาในสหรัฐฯ มีปฏิกิริยาต่อต้านแนวคิดดังกล่าว โดยที่ผ่านมาบริษัทที่ร่วมพัฒนาวัคซีนล้วนมีผลกำไรและรายได้พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงที่เกิดวิกฤตการระบาดของไวรัส ขณะที่กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเตือนว่า ก้าวย่างนี้ของไบเดนอาจทำลายความพยายามของบริษัทต่างๆ ในการตอบสนองการระบาดและลดทอนความปลอดภัยลง

 

แหล่งข่าวรายหนึ่งเผยว่า บริษัทในสหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อให้แน่ใจว่าการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีหลายประเทศที่พยายามเข้าถึงสิทธิบัตรเพื่อผลิตวัคซีนเอง ซึ่งหากแนวคิดการละเว้นทรัพย์สินทางปัญญาได้รับการอนุมัติ จะเปิดทางให้มีการผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้นและจัดหาให้แก่ประเทศที่ร่ำรวยน้อยกว่าในราคาที่ถูกลง โดยประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศระบุว่า ที่ผ่านมากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องปกป้องสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้กับโรคระบาด

 

อย่างไรก็ตาม การเจรจาในเวที WTO เพื่อยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในวัคซีนโควิด-19 นั้นอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อคลอดแผนที่ระบุรายละเอียดเฉพาะ ซึ่งต้องอาศัยฉันทามติของสมาชิกทั้ง 164 ประเทศด้วย

 

ภาพ: Melina Mara-Pool / Getty Images

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X