การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นบันไดในการยกระดับทางสังคม แต่ค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้นทำให้หลายคนต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา และเริ่มวัยทำงานด้วยตัวเลขที่ติดลบ
ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา: กยศ.) เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรงบนโซเชียลมีเดีย และเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศล้างหนี้ กยศ. ให้แก่นักศึกษามากกว่า 20 ล้านคน
ทันทีที่นโยบายประกาศออกมา ไบเดนต้องเผชิญเสียงแตกเป็นสองฝ่ายไม่แพ้กับกรณีของไทย ไม่ว่าจะเรื่องความเสี่ยงทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น หรือไม่ยุติธรรมกับคนที่จ่ายหนี้การศึกษาจนหมดแล้ว ส่วนฝั่งสนับสนุนก็มองว่านโยบายนี้ช่วยลดช่องว่างทางรายได้และแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อชาติ
อะไรเป็นเหตุผลให้ไบเดนตัดสินใจดำเนินนโยบายที่มีความสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ และสรุปนโยบายยกเลิกหนี้ กยศ. โอนเอียงไปทางได้หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน และเมื่อมองย้อนกลับมากรณีไทยว่าอะไรที่เราคล้ายหรือแตกต่างจากสหรัฐฯ บ้าง
ทำไมต้องล้างหนี้ กยศ.?
สมัยยังเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน หาเสียงไว้ว่า เขาจะล้างหนี้ กยศ. ให้กับนักศึกษาของรัฐบาลกลาง 10,000 ดอลลาร์ต่อคน หรือประมาณ 3.6 แสนบาท
ผ่านไป 1 ปี คำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนหลายฝ่ายเริ่มออกมากดดัน เมื่อวันสิ้นสุดการพักชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดที่มีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ใกล้เข้ามา ไบเดนต้องให้คำตอบว่าเขาจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
บทสรุปที่ออกมาจึงเป็นการประกาศล้างหนี้ให้นักศึกษาอเมริกันคนละ 10,000 ดอลลาร์ตามสัญญา ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 1.25 แสนดอลลาร์ หรือ 2.5 แสนดอลลาร์ สำหรับคู่สมรส
รวมทั้งประกาศล้างหนี้กองทุนเพลล์ (Pell Grants) ที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลางอีกคนละ 20,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 7.2 แสนบาท พร้อมขยายเวลาพักชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้เป็นครั้งสุดท้าย
นับตั้งแต่ปี 1980 ค่าใช้จ่ายการเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐเมริกาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 3 เท่า ขณะที่การสนับสนุนของรัฐบาลไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น กองทุนเพลล์ที่เคยครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกือบ 80% ตอนนี้เหลือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ทำให้นักเรียนจำนวนมากจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและปานกลางไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องกู้ยืมเงิน หากพวกเขาต้องการได้รับปริญญา
จากสถิติชี้ว่า ชาวอเมริกันราว 43 ล้านคนติดหนี้การศึกษา รวมแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้หนี้เพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ มีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 2 ของหนี้สินครัวเรือน รองจากหนี้จำนองอสังหาริมทรัพย์
ไบเดนกล่าวในวันแถลงการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่สูงขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นภาระอันหนักหนาของชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง แม้จะเรียนจบไปแล้ว แต่พวกเขายังคงไม่สามารถเข้าถึงชีวิตชนชั้นกลางที่ใบปริญญาเคยเป็นใบเบิกทางได้ เพราะคนที่เป็นหนี้จะมีเงินสำหรับซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ส่งผลให้สร้างความมั่งคั่ง เช่น การซื้อบ้าน การเก็บเงินเพื่อเกษียณ และการเริ่มต้นทำธุรกิจ ยากขึ้น
ผลกระทบของหนี้การศึกษายิ่งย่ำแย่ลงไปอีกในผู้กู้กลุ่มเปราะบาง จากสถิติเกือบ 1 ใน 3 ของผู้กู้ มีหนี้แต่ไม่มีวุฒิการศึกษา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีสูงเกินไปจนต้องหยุดเรียนกลางคัน โดยผู้ที่ออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันมีโอกาสว่างงานมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาถึง 19.6% และหากผู้กู้ผิดชำระหนี้ตามกำหนด รัฐบาลอาจคิดค่าปรับหรือลดคะแนนเครดิตทางการเงินของผู้กู้ลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคต
นโยบายยกเลิกหนี้ กยศ. ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการช่วยให้ชาวอเมริกันยกภูเขาหนี้ออกจากอก ทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานชาวอเมริกันลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น
นอกจากการยกเลิกหนี้ ไบเดนยังมีแผนจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์การชำระหนี้ กยศ. ใหม่ เช่น ลดเพดานหนี้ที่ผู้กู้ระดับปริญญาตรีต้องจ่ายในแต่ละเดือนลงครึ่งหนึ่งจาก 10% เป็น 5% ของรายได้, ยกหนี้ให้แก่ผู้กู้ที่ชำระเงินครบ 10 ปี แทนที่จะเป็น 20 ปี สำหรับคนที่มียอดเงินกู้เดิมไม่เกิน 12,000 ดอลลาร์ และไม่คิดดอกเบี้ยค้างชำระรายเดือน ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับผู้กู้ที่มีความสามารถจ่ายคืนได้ต่ำ และจบลงด้วยดอกเบี้ยทบเงินต้นไปเรื่อยๆ จนสูงกว่ายอดที่กู้มาในตอนแรก
ทางคณะกรรมการดูแลงบประมาณของรัฐบาลกลาง (CRFB) คาดการณ์ว่า แผนยกเลิกหนี้ กยศ. คนละ 10,000 ดอลลาร์ และ 20,000 ดอลลาร์ ของไบเดน จะใช้งบประมาณอยู่ราว 3.6 แสนล้านดอลลาร์ และเมื่อบวกกับแผนการชำระหนี้ กยศ. แบบใหม่ ทั้งหมดอาจมีค่าใช้จ่ายรวม 10 ปี อยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์
ใครได้ประโยชน์?
ความคาดหวังหนึ่งของนโยบายนี้คือ ลดปัญหาช่องว่างของรายได้ โดยเฉพาะระหว่างเชื้อชาติ แต่กราฟนี้ของสำนักข่าว BBC ชี้ให้เห็นว่า
โดยเฉลี่ยนักศึกษาอเมริกันติดหนี้เพื่อการศึกษาของโครงการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อยู่ที่คนละกว่า 17,000 ดอลลาร์ มีเพียง 17% เท่านั้นที่ติดหนี้น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ตามที่ไบเดนประกาศ และมีมากถึง 7% ติดหนี้สูงกว่า 1 แสนดอลลาร์
ก่อนนโยบายของไบเดนจะถูกประกาศออกมา สมาคมเพื่อสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ (National Association for the Advancement of Colored People) ออกความเห็นว่า การลดหนี้ 10,000 ดอลลาร์นั้นไม่เพียงพอ ขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์ เพราะงานวิจัยจากสถาบันบรูกกิงส์ระบุว่า คนผิวดำที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไปแล้ว 4 ปี มีหนี้จากการศึกษามากกว่าคนผิวขาว หรือคิดเป็น 25,000 ดอลลาร์
อีกทั้งตัวเลขจากสำนักงานสถิติทางการศึกษาแห่งชาติก็ชี้ด้วยว่า คนผิวดำที่เรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้น มีรายได้ประมาณ 5,000 ดอลลาร์หรือน้อยกว่าคนผิวขาวที่เรียนจบในระดับเดียวกัน โดยทีม Penn Wharton Budget Model แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเมินว่า ตามแผนการยกเลิกหนี้ 10,000 ดอลลาร์ของไบเดน จำนวนหนี้กว่า 69-73% ที่ถูกล้างไปนั้น เป็นหนี้ของครัวเรือนที่มีรายได้ระดับบน 60% ของประเทศ แต่การล้างหนี้กองทุนเพลล์จะสามารถกระจายผลประโยชน์กลับไปสู่ผู้มีรายได้ต่ำและปานกลางได้ เนื่องจากผู้กู้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบางจริงๆ
เห็นด้วย vs. ไม่เห็นด้วย
การยกเลิกหนี้ กยศ. เป็นข้อถกเถียงในสหรัฐฯ มานานนับปี สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนไม่ว่าจะเป็น เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซตส์ และ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา เสนอให้ไบเดนล้างหนี้การศึกษาคนละ 50,000 ดอลลาร์ โดยจะช่วยขจัดหนี้ให้กับประชาชนมากกว่า 34 ล้านคนอัตโนมัติ และอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ไบเดนมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป
ขณะเดียวกันฝ่ายหัวก้าวหน้าบางคนก็ต้องการให้ไบเดนทำมากกว่านี้ เพื่อลดต้นทุนค่าเล่าเรียน เหมือน เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ ที่เรียกร้องให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการศึกษาทั้งหมดสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและปานกลางไปเลย
ส่วนฝ่ายพรรครีพับลิกันโจมตีว่า การประกาศล้างหนี้การศึกษาของไบเดนครั้งนี้มีเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา เป็นกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนพรรคเดโมแครต
โดย มิตช์ แมคคอนเนลล์ สมาชิกวุฒิสภาอาวุโสจากรัฐเคนทักกี จิกกัดการเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็น ‘สังคมนิยมเงินกู้เพื่อการศึกษา’ (Student Loan Socialism) และเป็นการกระทำที่ตบหน้าทุกครอบครัวที่เสียสละเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนที่จ่ายหนี้ของพวกเขา รวมถึงชาวอเมริกันทุกคนที่เลือกประกอบบางอาชีพเพื่อหลีกเลี่ยงรับภาระหนี้สิน
ในแง่ของปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ เจสัน เฟอร์แมน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอดีตผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดี บารัก โอบามา ตำหนิว่า การเทน้ำมันประมาณ 5 แสนดอลลาร์ลงบนเงินเฟ้อที่กำลังลุกโชนอยู่แล้วนั้น ถือเป็นการกระทำที่สะเพร่า เนื่องจากนโยบายล้างหนี้การศึกษาจะยิ่งกระตุ้นความต้องการซื้อ และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้วสูงขึ้นไปอีก
ขณะที่ จาเร็ด เบิร์นสไตน์ สมาชิกสภาที่เศรษฐกิจของไบเดน แย้งว่า จะไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อแย่ลง เพราะการหยุดพักชำระหนี้ กยศ. ไป 3 ปีจากสถานการณ์โควิด จะกลับมาชำระคืนตามเดิมในเดือนมกราคมปีหน้า ดังนั้นกำลังซื้อที่ลดลงจากการเริ่มจ่ายดอกเบี้ยใหม่ จะช่วยชดเชยส่วนที่หายไปจากนโยบายล้างหนี้ได้
สำหรับฝั่งประชาชน ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,425 คน ที่ทาง Data for Progress จัดทำขึ้นมาก่อนการประกาศนโยบายล้างหนี้ 1 สัปดาห์ ชี้ให้ว่า เห็นว่า 60% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันสนับสนุนการล้างหนี้ กยศ. บางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐบาลกลาง และไม่สนับสนุน 35% อีก 5% ไม่มีความเห็น
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยอมรับว่า นโยบายที่เขาประกาศไม่สามารถทำให้ทุกคนพึ่งพอใจได้ บางคนคิดว่ามันมากเกินไป หรือบางคิดว่าน้อยเกินไป แต่ทั้งหมดนี้เป็นคิดบนฐานผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง และช่วยเหลือผู้กู้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ถึงอย่างนั้นนโยบายล้างหนี้ของไบเดนยังเป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะนักศึกษาในโครงการของรัฐ สำหรับนักศึกษาในภาคเอกชน พวกเขายังคงต้องเผชิญกับปัญหาค่าเล่าเรียนและหนี้การศึกษาไม่ต่างไปจากเดิม
กรณีล้างหนี้ กยศ. ไทย
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หลังจากมีการแชร์ข้อความเชิญชวนลงชื่อ 10,000 รายชื่อผ่านเว็บไซต์ welfarewillwin เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมาย กยศ. ให้รัฐบาลมีกลไกเข้ามาเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ หลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างฝ่ายเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย จนส่งผลให้เกิด #ล้างหนี้กยศ ขึ้นเทรนด์ Twitter ภายในเวลาอันรวดเร็ว
กลุ่มคนที่สนับสนุนมองว่า การล้างหนี้ กยศ. เรียนฟรีตลอดชีพ เป็นข้อเสนอเพื่อคน 99% ในขณะที่กลุ่มคนไม่เห็นด้วยมองว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องใช้หนี้คืน ทั้งยังเป็นคนละประเด็นกับเรื่องการศึกษาเท่าเทียม
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา และเป็นผู้ผลักดันแนวคิดดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW เอาไว้ว่า สิ่งที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการฯ ผลักดันคือการเรียนฟรีจนถึงระดับมหาวิทยาลัย พร้อมได้รับค่าครองชีพเดือนละ 2,000-3,000 บาท และการล้างหนี้ กยศ. จะเป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะเกิดขึ้นตามมา เพื่อเยียวยาผลจากนโยบายในอดีต ไม่ใช่ข้อเสนอให้ล้างหนี้ กยศ. อย่างเดียวเหมือนที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาทุนทรัพย์ผ่านการให้กู้ยืมเงินก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาลดลงได้
หากถามว่าประเทศไทยสามารถออกแบบการศึกษาให้ก้าวหน้าไปสู่การเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัยเหมือนในบางประเทศได้หรือไม่นั้น รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่า ถ้าคำนวณคร่าวๆ บนฐานว่า มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ 1 ล้านคน การช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนฟรีพร้อมมีค่าครองชีพ 2,000-3,000 บาทตามจำนวนที่ กยศ. จ่ายให้กับผู้กู้ จะใช้งบประมาณอยู่ราว 2 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมใช้สำหรับทำแคมเปญต่างๆ และถ้าการเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นได้จริง เราอาจไม่จำเป็นต้องยกเลิกโครงการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง แต่เปลี่ยนให้อยู่ในลักษณะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมมากกว่าทางเลือกหลัก เช่น กรณีประเทศสวีเดนที่นักศึกษาได้รับการสนับสนุนค่าครองชีพประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน และรัฐบาลยังคงปล่อยให้กู้ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องดิ้นรนไปทำงานพิเศษเพิ่มมาจ่ายส่วนที่ไม่พอใช้ และยอดชำระหนี้คืนเมื่อเทียบกับรายได้หลังจากเรียนจบของคนสวีเดนนั้น แค่ทำงานเพียงเดือนเดียวก็สามารถจ่ายคืนได้
ล้างหนี้ไม่ใช่ทางออก
ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ออกมาชี้แจ้งต่อประเด็นที่เกิดขึ้นว่า กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนโดยไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร และให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปีเท่านั้น ภายใต้ระยะเวลาผ่อนชำระนานกว่า 15 ปี
ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมไปแล้ว 6.21 ล้านคน คิดเป็นเงิน 6.96 แสนล้านบาท และกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้ กยศ. มีเงินให้นักเรียน-นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา พร้อมทั้งย้ำว่า การยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการศึกษา เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยปัจจุบันมีผู้กู้อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3.45 ล้านคน คิดเป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 3.37 แสนล้านบาท
ขณะที่ นพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาชี้แจงเช่นกันว่า การยกหนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต และตอนนี้รัฐบาลเข้าใจปัญหาหนี้ กยศ. ตามกฎหมายปัจจุบันแล้ว จึงเสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลัก ‘เป็นหนี้ต้องใช้หนี้’ แต่จะปรับเปลี่ยนการผ่อนปรนการชำระหนี้ กยศ. ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าดูความคิดเห็นบนโซเซียลมีเดีย ส่วนใหญ่ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า ‘เป็นหนี้ก็ต้องใช้’ หรือ ‘ไม่ยุติธรรมสำหรับคนจ่ายหนี้ครบ’ ซึ่งศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการฯ ยกบทความของ เบน เบอร์จิส อาจารย์คณะปรัชญา มหาวิทยาลัยรัตเจอร์ มาอธิบายว่า การศึกษาไม่ควรจะต้องทำกำไร และไม่ควรมีใครติดหนี้จากการบริการของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชน และการดำเนินการอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตของคนในปัจจุบันดีขึ้น ต่างก็ล้วนแต่ไม่ยุติธรรมกับคนในอดีตเช่นกัน
ทางด้าน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ เสริมความคิดเห็นข้างต้นว่า ทุกนโยบายสาธารณะในโลกนี้ย่อมมีคนที่ได้และเสียผลประโยชน์ โดยกรณียกเลิกหนี้ กยศ. คนที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงคือผู้กู้หรือผู้ที่กำลังเรียนอยู่ ส่วนคนที่ได้รับประโยชน์โดยอ้อมคือคนค้ำประกันหรือคนในครอบครัว และคนได้ประโยชน์น้อยที่สุดคือคนที่ใช้หนี้คืนเกือบครบหมดแล้ว เมื่อพูดเรื่องรัฐสวัสดิการอาจฟังเป็นเรื่องยาก แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดเหมือนกันว่าเราสามารถจ่ายแค่ 30 บาทเพื่อรับการรักษาพยาบาลได้ ดังนั้นการเรียนมหาวิทยาลัยฟรีพร้อมค่าครองชีพก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ และไทย มากกว่าข้อถกเถียงเรื่องควรยกเลิกหนี้ กยศ. หรือไม่นั้น เราอาจต้องมองไปให้ถึงต้นทางของปัญหาว่า ทำไมค่าใช้จ่ายในการศึกษาถึงได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนผลักให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่จะเป็นใบเบิกทางไปสู่อนาคตอันสดใสได้ หากพวกเขาไม่กู้ยืมเงิน