×

รถบัสโรงเรียนสหรัฐฯ มาตรฐานความปลอดภัยที่ไทยควรไปให้ถึง

02.10.2024
  • LOADING...
รถบัสโรงเรียนสหรัฐ

รถบัสโรงเรียน หรือ ‘รถรับส่งนักเรียน’ ควรเป็นยานพาหนะที่มีมาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความพร้อมอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังต้องมีระดับความปลอดภัยที่สูงมาก เนื่องจากเกี่ยวพันกับชีวิตและความปลอดภัยของเด็กนักเรียนทุกคนภายในรถตลอดการเดินทาง 

 

‘สหรัฐอเมริกา’ เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานของ รถบัสโรงเรียน เป็นอย่างมาก โดยในแต่ละวัน รถบัสโรงเรียน ทั่วสหรัฐฯ ราว 5 แสนคันจะรับส่งนักเรียนมากกว่า 25 ล้านคนไป-กลับจากโรงเรียนและจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน เช่น การแข่งขันกีฬา การแข่งขันวิชาการ หรือทัศนศึกษา

 

คณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) ระบุว่า รถบัสโรงเรียนเป็น ‘ยานพาหนะที่ปลอดภัยที่สุด’ บนท้องถนน และเป็นหนึ่งในวิธีการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดจากหลากหลายวิธี โดยเด็กนักเรียนที่เดินทางด้วยรถบัสโรงเรียนจะมีความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่าเมื่อเทียบกับยานพาหนะอื่นๆ 

 

ขณะที่สำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ (NHTSA) ชี้ว่า เด็กนักเรียนที่โดยสารรถบัสโรงเรียนมีแนวโน้มที่จะเดินทางถึงโรงเรียนได้อย่างปลอดภัยสูงถึง 70 เท่า 

 

ภาพ: Inside Creative House / Shutterstock

 

ส่องมาตรฐาน ‘รถบัสโรงเรียนสหรัฐฯ’

 

รถบัสโรงเรียนในสหรัฐฯ มักจะทา ‘สีเหลือง’ (National School Bus Yellow) ทั่วทั้งคันรถ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ง่ายในทุกสภาพอากาศ และควรติดป้าย ‘รถโรงเรียน’ (School Bus) บริเวณมุมสูงของตัวรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งยังต้องมี ‘แขนหยุดรถ’ (Bus Stop Arm) รวมถึงสัญญาณไฟกะพริบต่างๆ บริเวณด้านข้างตัวรถ เพื่อให้เด็กที่กำลังขึ้น-ลงรถมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 

 

ส่วนภายในรถบัสโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโครงเบาะที่นั่ง พนักพิงที่สูง รวมถึงระยะห่างของแต่ละแถวที่นั่ง ล้วนได้รับการออกแบบตามแนวคิด ‘Compartmentalization’ ที่จะทำให้เกิดการดูดซับแรงหรือพลังงาน เพื่อให้ผู้โดยสารภายในรถได้รับการปกป้องอย่างเต็มประสิทธิภาพหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุบนท้องถนน

 

โดยหลายรัฐของสหรัฐฯ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา, นิวยอร์ก และรัฐเท็กซัส ต่างออกกฎหมายใหม่ ให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยบนรถบัสโรงเรียนอย่างจริงจัง ขณะที่ในอีกกว่า 25 รัฐทั่วประเทศอนุญาตให้รถบัสโรงเรียนสามารถติดตั้งกล้องจับภาพทั้งภายนอกและภายในรถ เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารอีกด้วย

 

รถบัสโรงเรียนสหรัฐ

ภาพ: Flocu / Shutterstock

 

นอกจากนี้รถบัสโรงเรียนสหรัฐฯ จะมี ‘ทางออกฉุกเฉิน’ (Emergency Exit) ซึ่งมักจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถบัสโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นประตูฉุกเฉินด้านข้าง ด้านบนหลังคา รวมถึงประตูฉุกเฉินด้านหลัง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากหากประตูด้านหน้าถูกปิดกั้นหรือมีเหตุขัดข้อง ทั้งนี้ จำนวนทางออกฉุกเฉินมักขึ้นอยู่กับขนาดรถบัสหรือจำนวนที่นั่งภายในรถ

 

สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับทางออกฉุกเฉินเหล่านี้ โดยออกแบบให้มีขนาดใหญ่และมักมาพร้อมกับระบบที่เด็กนักเรียนสามารถเปิดประตูเหล่านี้ได้โดยง่ายจากภายในตัวรถ เพื่อให้เด็กๆ สามารถทยอยอพยพออกจากตัวรถบัสโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน หากมีความพยายามที่จะเปิดประตูฉุกเฉินในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่หรือไม่ได้เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น รถบัสโรงเรียนสมัยใหม่จะมีระบบแจ้งเตือนไปยังคนขับรถ

 

นอกจากอุปกรณ์และส่วนประกอบต่างๆ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพและระดับความปลอดภัยของผู้โดยสารรถบัสโรงเรียนแล้ว คนขับรถบัสเองก็ต้องได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่แต่ละรัฐมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติในการออกใบอนุญาตภายในรัฐของตนเอง 

 

ภาพ: Inside Creative House / Shutterstock

 

บทเรียนที่ไทยควรเรียนรู้

 

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งมักจะเป็นยานพาหนะที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้รับส่งเด็กนักเรียนโดยเฉพาะ เช่น รถตู้ รถสองแถวขนาดใหญ่ หรือรถกระบะต่อเติมหลังคาและเบาะนั่ง ซึ่งอาจไม่มีอุปกรณ์หรือส่วนประกอบที่จะส่งเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารมากเพียงพอเมื่อเทียบกับรถบัสโรงเรียน

 

บ่อยครั้งที่ยานพาหนะเหล่านี้ขาดการตรวจสภาพและความพร้อมในการใช้งาน รถบางคันมีอายุการใช้งานมานานมากและมีสภาพทรุดโทรม ยังไม่นับรวมปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกินอัตรา ซึ่งล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายบนท้องถนนได้มากยิ่งขึ้น

 

ภาครัฐอาจจำเป็นต้องกำหนดมาตรการที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับรถรับส่งนักเรียนและผู้ขับขี่รถรับส่งนักเรียน รวมถึงอาจสนับสนุนการใช้รถบัสโรงเรียนมากยิ่งขึ้น โดยสหรัฐฯ มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่เข้มงวด อีกทั้งระบบรถบัสโรงเรียนในสหรัฐฯ ก็มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบจากทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐ ซึ่งจะต้องมีการตรวจเช็กคุณภาพรถและอบรมวินัยจราจร รวมถึงให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนหรือผู้โดยสาร โดยเน้นย้ำถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ 

 

ขณะที่หน่วยงานเอกชนรวมถึงสถานศึกษาต่างๆ ก็อาจจะต้องให้ความรู้และความเข้าใจแก่เด็กนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากยานพาหนะ 

 

ภาพ: Prostock-studio / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X