เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 สิงหาคม) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) เพื่อห้ามไม่ให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในภาคเทคโนโลยีของจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการลงทุนและความเชี่ยวชาญใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ที่จะไปมีส่วนในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนของจีน
รายงานระบุว่า มาตรการใหม่นี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2024 ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งภาคเทคโนโลยีของจีนที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ดังกล่าวคือ เซมิคอนดักเตอร์และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) บางอย่าง
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ได้กล่าวเตือนในคำสั่งของฝ่ายบริหารว่า การลงทุนบางอย่างของสหรัฐอเมริกาอาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ละเอียดอ่อนในประเทศต่างๆ ที่พัฒนาเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ และขีดความสามารถของพันธมิตร ดังนั้นคำสั่งผู้บริหารฉบับล่าสุดจะช่วยป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ เข้าไปให้ความช่วยเหลือพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ซึ่งอาจนำไปใช้สนับสนุนด้านการทหารของจีน จนย้อนกลับมาคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยไม่ได้ตั้งใจ
แม้จะไม่ได้มีการเอ่ยถึงชื่อประเทศโดยตรง แต่ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า ตนเองพบความเกี่ยวข้องของการลงทุนที่มีส่วนร่วมในกลยุทธ์ระยะยาวที่ชี้นำ อำนวยความสะดวก หรือสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมีความสำคัญต่อขีดความสามารถทางทหาร หน่วยข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และความสามารถทางไซเบอร์ของประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ คำสั่งผู้บริหารฉบับล่าสุดจะให้อำนาจกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เข้าไปกำกับควบคุมการลงของสหรัฐฯ ใน 3 อุตสาหกรรม คือ เซมิคอนดักเตอร์และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีข้อมูลควอนตัม และ AI โดยรายละเอียดของการดำเนินการ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กำลังกำหนดเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ละเอียดอ่อนในหมวดหมู่เหล่านี้ เพื่อมีคำสั่งห้ามและข้อกำหนดในการแจ้งเตือนต่อไป
นอกจากนี้เยลเลนยังได้รับมอบหมายให้ประสานงานกับรัฐมนตรีพาณิชย์ จีนา ไรมอนโด, รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน, รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน, รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม และผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ เอวริล เฮนส์
ขณะนี้ทางการจีนยังไม่ได้มีการออกแถลงการณ์หรือแสดงท่าทีตอบโต้ใดๆ จากจีน ขณะที่มีรายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯ คาดหวังว่าชาติพันธมิตรจะมีการใช้มาตรการจำกัดที่คล้ายคลึงกัน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงพูดถึงเงื่อนไขดังกล่าวว่า มาตรการใหม่นี้ได้รับการปรับแต่ง เพื่อไม่ให้ขัดขวางธุรกิจระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนย้ำว่า สหรัฐฯ ทราบดีว่ากระแสการลงทุนข้ามพรมแดนมีส่วนสนับสนุนความมีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน และคำสั่งผู้บริหารนี้จะปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทำให้ธุรกิจสหรัฐฯ ยังคงรักษาความมุ่งมั่นในการลงทุนแบบเสรี
อ้างอิง: