×

สหรัฐฯ เชิญ 110 ชาติร่วมประชุมสุดยอดค่ายประชาธิปไตย แต่ไม่มีไทย

25.11.2021
  • LOADING...
Summit for Democracy

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำประชาธิปไตยครั้งแรก (Summit for Democracy) ตามที่เคยประกาศไว้ โดยเชิญกว่า 100 ชาติในโลกเสรีเข้าร่วม แต่ในนั้นไม่ปรากฏชื่อของประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

จุดประสงค์ของการประชุม

การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีหารือแนวทางการส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย และหยุดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม การประชุมซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ถูกตั้งคำถามโดยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนว่า จะสามารถผลักดันผู้นำที่ได้รับเชิญให้ดำเนินมาตรการได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ผู้นำบางคนถูกกล่าวหาว่าแฝงความเป็นเผด็จการ นอกจากนี้ยังมีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรจำกัดผู้เข้าร่วมโดยเชิญแต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเท่านั้น 

ใครได้รับเชิญ และใครไม่ได้รับเชิญบ้าง ฝ่ายบริหารไบเดนมีเกณฑ์คัดเลือกอย่างไร

ผู้นำประเทศหรือชาติที่ไบเดนเชิญนั้น ประกอบด้วยประเทศหรือดินแดนฝั่งประชาธิปไตยเสรีนิยม ไปจนถึงประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ และหลายรัฐที่มีลักษณะเผด็จการ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และปากีสถาน

 

สำหรับรายชื่อผู้ได้รับเชิญที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นั้น ประกอบด้วย แอลเบเนีย, อังโกลา, แอนติกาและบาร์บูดา, อาร์เจนตินา, อาร์เมเนีย, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, บาร์ฮามาส, บาร์เบโดส, เบลเยียม, เบลีซ, บอตสวานา, บราซิล, บัลแกเรีย, กาบูเวร์ดี, แคนาดา, ชิลี, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, โครเอเชีย, ไซปรัส, สาธารณรัฐเช็ก, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, เดนมาร์ก, โดมินิกา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, เอกวาดอร์, เอสโตเนีย, สหภาพยุโรป, ฟิจิ, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, จอร์เจีย, เยอรมนี, กานา, กรีซ, เกรนาดา, กายอานา, ไอซ์แลนด์, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิรัก, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, จาไมกา, ญี่ปุ่น, เคนยา, คิริบาส, โคโซโว, ลัตเวีย,​ ไลบีเรีย, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, มาลาวี, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, มอลตา, หมู่เกาะมาร์แชล, มอริเชียส, เม็กซิโก, ไมโครนีเซีย, มอลโดวา, มองโกเลีย, มอนเตเนโกร, นามิเบีย, นาอูรู, เนปาล, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, นอร์ทมาซิโดเนีย, นอร์เวย์, ปากีสถาน, ปาเลา, ปานามา, ปาปัวนิวกินี, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, โปรตุเกส, เกาหลีใต้, โรมาเนีย, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเซีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, ซามัว, เซาตูเมและปรินซิปี, เซเนกัล, เซอร์เบีย, เซเชลส์, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย, หมู่เกาะโซโลมอน, แอฟริกาใต้, สเปน, ซูรินาเม, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, ติมอร์เลสเต, ตองกา, ตรินิแดดและโตเบโก, ตูวาลู, ยูเครน, สหราชอาณาจักร, อุรุกวัย, วานูอาตู และแซมเบีย

              

ส่วนประเทศที่ไม่ได้รับเชิญนั้นมีไทยรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังไม่ได้เชิญรัสเซีย, จีน, เกาหลีเหนือ และหลายประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ว่าบางประเทศจะเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ตาม 

 

เมื่อดูจากข้อมูลรายงานฉบับปี 2021 ของ Freedom House ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศพบว่า ประเทศที่ได้รับเชิญนั้นมี 77 ชาติที่ถูกจัดอยู่ในค่าย ‘เสรี’ หรือประชาธิปไตยเต็มที่ ขณะที่อีก 31 ชาติ ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘เสรีบางส่วน’ และมี 3 ประเทศจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ไม่เสรี’

 

สำหรับเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกนั้น นอกจากดูที่ระบอบการปกครองและการส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยของรัฐบาลแล้ว เหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นอีกเกณฑ์การตัดสินใจที่สำคัญ โดยสถาบันคาร์เนกีฯ วิเคราะห์ว่า เกณฑ์ข้อแรกอาจเกี่ยวข้องกับพลวัตระดับภูมิภาค เมื่อพิจารณาจากดัชนีประชาธิปไตยอย่างเข้มงวดจะพบว่า ภูมิภาคนี้มีเพียงอิสราเอลและตูนิเซียเท่านั้นที่มีคุณสมบัติพอที่จะเข้าร่วมได้ แต่ตูนิเซียกำลังประสบปัญหาการก่อรัฐประหารแบบช้าๆ ด้วยเหตุนี้จึงเหลือเพียงอิสราเอลเท่านั้น แต่การเลือกอิสราเอลเป็นตัวแทนเพียงประเทศเดียวของภูมิภาคนี้ อาจทำให้เกิดความกังขาในทางการเมืองระหว่างประเทศได้ ดังนั้นภายใต้บริบทดังกล่าว การเชิญอิรักที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเข้าร่วมจึงดูสมเหตุสมผล

 

เกณฑ์ข้อต่อมาคือพิจารณาจากผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพราะเมื่อดูจากรายชื่อที่รับเชิญ พบว่ามีปากีสถาน, ฟิลิปปินส์ และยูเครนรวมอยู่ด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่บกพร่อง โดยมีทั้งปัญหาคอร์รัปชันและการละเมิดหลักนิติธรรม แต่ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในการถ่วงดุลอำนาจจีน จับมือยูเครนต้านทานการรุกคืบของรัสเซีย หรือร่วมมือกับปากีสถานทำสงครามต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย 

 

ข้อสุดท้ายอาจเป็นเหตุผลทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น การไม่เชิญฮังการีและตุรกีในครั้งนี้ อาจเป็นความตั้งใจของไบเดนที่ไม่ต้องการทำอะไรที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้นายกรัฐมนตรี วิกตอร์ ออร์บาน ของฮังการี และประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาลอีกสมัย โดยทั้งคู่ถูกวิจารณ์มาตลอดว่ามีลักษณะของเผด็จการ

 

ภาพ: Alex Wong / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising