×

พบสัญญาณชะลอตัว! เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนธันวาคม เพิ่ม 6.5% ต่ำสุดในรอบปี ลุ้น Fed ผ่อนคลายท่าทีแข็งกร้าว

13.01.2023
  • LOADING...
เงินเฟ้อสหรัฐฯ

สหรัฐฯ เผยเงินเฟ้อเดือนธันวาคม ขยับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงและสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จุดประกายความหวังว่าอัตราเงินเฟ้อที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในเวลานี้กำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผ่อนคลายท่าทีแข็งกร้าว

 

รายงานระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.5% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดเมื่อเทียบรายปีนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 และสอดคล้องกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า

 

ขณะเดียวกันเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.1% ในเดือนธันวาคม โดยเป็นไปในทิศทางที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้เช่นกัน และเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ในส่วนของดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.7% ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบรายปี แต่เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานเดือนธันวาคมขยับขึ้น 0.3%

 

ความเคลื่อนไหวของดัชนี CPI ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบวกที่บ่งชี้ได้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษกำลังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ร่วงลง ทำให้มีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะลดลงอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ด้านปัญหาของห่วงโซ่อุปทานก็คลี่คลายไปมากแล้ว ซึ่งช่วยลดต้นทุนของสินค้าตั้งแต่รถยนต์และรองเท้าไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์และเครื่องกีฬา

 

ขณะเดียวกันเงินเฟ้อที่โตชะลอลงในเดือนธันวาคม ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นที่ Fed จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดย Fed อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.50% ในเดือนธันวาคม และอีก 0.75% ในครั้งก่อนหน้า

 

รายงานยังระบุว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ Fed ได้ส่งสัญญาณแสดงท่าทีและความตั้งใจที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่า 5% ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจำนองบ้านอยู่ในระดับสูงพร้อมกับต้นทุนของสินเชื่อรถยนต์และการกู้ยืมเพื่อธุรกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของ Fed มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจเย็นลงและลดอัตราเงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งก็อดหวั่นเกรงไม่ได้ว่าการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะส่งผลให้เศรษฐกิจอาจเกิดภาวะถดถอยได้ ดังนั้นโอกาสที่ Fed จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสในการเลี่ยงภาวะถดถอยมากขึ้นเช่นกัน

 

หลายฝ่ายมองว่า หากอัตราเงินเฟ้อยังคงผ่อนคลายลง Fed อาจระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับคาดการณ์ว่า Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในเดือนมีนาคม ก่อนรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ชั่วคราว

 

ทั้งนี้ ราคาซื้อ-ขายในตลาด Futures แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ แม้รายงานการประชุมของ Fed ในเดือนธันวาคม จะระบุว่า สมาชิก Fed ทั้ง 19 คน ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 แม้แต่คนเดียวก็ตาม

 

ดาลีพ สิงห์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ PGIM Fixed Income และอดีตเจ้าหน้าที่ของ Fed มองว่า หากอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงมีแนวโน้มลดลง Fed สามารถสบายใจได้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจอยู่ในจุดที่ดี พร้อมคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 0.25% ในการประชุม 2 ครั้งถัดไป และจากนั้นจะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 5%

 

อย่างไรก็ตาม แม้วอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ชะลอตัวลง แต่ก็ยังเป็นความจริงที่เจ็บปวดสำหรับชาวอเมริกันจำนวนมากที่ราคาสินค้ายังคงมีราคาแพงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าจำเป็น อย่างเช่น อาหาร พลังงาน และค่าเช่าที่ ซึ่งขยับเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ราคาร้านขายของชำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.2% ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดในรอบเกือบสองปี ถึงกระนั้นราคาเหล่านั้นก็ยังถือว่าขยับเพิ่มขึ้น 11.8% จากปีที่แล้ว

 

ในส่วนของเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ค่อนข้างเป็นในทางบวก และสนับสนุนโอกาสที่ Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงขั้นระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่สุด ซึ่งปัจจัยหนุนแรกสุดก็คือตัวเลขตำแหน่งงานในเดือนธันวาคมที่ยังคงแข็งแกร่ง กระนั้นความแข็งแกร่งดังกล่าวก็เป็นข้ออ้างที่ Fed สามารถขยับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้ ในกรณีที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง เพราะสะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการรองรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดของ Fed

 

ทั้งนี้ แม้ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 7 ครั้งช่วงปีที่ผ่านมาท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงอยู่ แต่ตลาดงานในสหรัฐฯ ยังสามารถเติบโตได้ดี โดยนายจ้างชาวอเมริกันสามารถเพิ่มงานได้ 223,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 53 ปี ส่วนการเติบโตของค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงก็ชะลอตัวลง ซึ่งน่าจะลดแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ ขึ้นราคาเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น

 

สิงห์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยกำลังเพิ่มมากขึ้น

 

สัญญาณเชิงบวกอีกประการสำหรับความพยายามของ Fed ในการระงับเงินเฟ้อคือ ชาวอเมริกันโดยรวมคาดว่าการเพิ่มขึ้นของราคาจะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ความเชื่อมั่นดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่เรียกว่าความคาดหวังเงินเฟ้อสามารถเติมเต็มได้เอง หากผู้คนคาดหวังว่าราคาจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเขามักจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เช่น เรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงยืดเยื้อต่อไปได้

 

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา Fed สาขานิวยอร์ก ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ขณะนี้ผู้บริโภคชาวอเมริกันคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 5% ในปีหน้า ถือเป็นความคาดหวังที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 18 เดือน ขณะเดียวกันผู้บริโภคคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 2.4% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ Fed เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ในส่วนของความเคลื่อนไหวในตลาด Wall Street ที่น่าจับตามองในช่วงสัปดาห์นี้ก็คือ การที่หุ้นของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่มีมูลค่าลดลง โดยหุ้นมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1 ใน 4 ของดัชนี S&P 500 คือ 24.4% ซึ่งลดลงจาก 30.4% ในช่วงปลายปี 2021 และเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในการจัดอันดับ ณ สิ้นเดือนนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของโควิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่นำไปสู่การจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

 

สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นตกหนักสุดคือ การร่วงลงอย่างน่าใจหายของหุ้นกลุ่ม Big Tech ที่เข้ามาครอบงำตลาด ตัวอย่างเช่น Tesla และ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook สูญเสียมูลค่าไปกว่า 60% และหลุดจาก 10 อันดับแรกของดัชนี S&P 500

 

ขณะเดียวกันบรรดาหุ้นของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่สามารถขยับขึ้นมาได้แต่ก็ไม่มากเท่ากับสัดส่วนเดิม ตัวอย่างเช่น Exxon Mobil ไต่กลับขึ้นไปใน 10 อันดับแรกหลังจากเพิ่มขึ้น 80% ในปีที่แล้ว ขณะที่การเพิ่มขึ้น 3.3% ช่วยให้ Johnson & Johnson เข้ามาแทนที่ NVIDIA ซึ่งสูญเสียมูลค่าหุ้นมากกว่า 50%

 

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดหมายความว่า ดัชนี S&P 500 ไม่ชอบการเคลื่อนไหวของหุ้นเพียงไม่กี่ตัว และนั่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกองทุนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ต่างเปรียบเทียบกับดัชนี S&P 500

 

รายงานระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการถือครองกองทุนดัชนี S&P 500 กลายเป็นเหมือนการถือครองกองทุนหุ้นเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 หุ้นในภาคบริการเทคโนโลยีและการสื่อสาร ซึ่งรวมถึง Meta และบริษัทอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่อื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของ S&P 500 ทั้งหมด ทว่าตอนนี้ลดลงเหลือเพียง 33%

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวหมายความว่า อนาคตที่ผันผวนโดย Meta และหุ้นที่เน้นเทคโนโลยีอื่นๆ จะไม่มีน้ำหนักมากสำหรับกองทุนดัชนี S&P 500 เหมือนที่เคยเป็นมา ตัวอย่างเช่น Tesla วันนี้คิดเป็น 0.9% ของ S&P 500 ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำหนักในฤดูใบไม้ร่วงปี 2021 เมื่ออยู่ที่ 2.3% ของดัชนี

 

นักวิเคราะห์มองว่า การร่วงลงของ Big Tech ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบสายฟ้าแลบที่ Fed ได้ดำเนินการผลักดันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม

 

ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ (12 มกราคม) ราคา Bitcoin พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบหนึ่งเดือน เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง และปรับตัวรับข่าวที่ระบุว่า ทนายความของ FTX บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีที่ประสบภาวะล้มละลาย ค้นพบสินทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งสร้างความหวังให้กับผู้ใช้งานของ FTX

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก CoinMetrics ระบุว่า ในวันพุธที่ผ่านมา (11 มกราคม) ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ ราคา Bitcoin พุ่งทะลุระดับ 18,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยปรับตัวขึ้นประมาณ 5% ในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมง จากนั้น Bitcoin เคลื่อนไหวที่ 18,164.80 ดอลลาร์

 

ขณะที่เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานอ้างอิงทนายความ FTX ว่า บริษัทเพิ่งค้นพบสินทรัพย์ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเงินสดและสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X