เมื่อพูดถึงภาวะเงินเฟ้อ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดก็คือราคาอาหาร โดยสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานอิงตัวเลขจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ที่ระบุว่าราคาอาหารในรอบ 12 เดือน ซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วถึง 10.4% นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1981
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันราคาสินค้าในร้านขายของชำพุ่งขึ้น 12.2% โดยสินค้าอาหารเกือบทุกรายการมีราคาแพงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น ราคาไข่พุ่งขึ้น 33.1%, แป้งพุ่งขึ้น 19.2%, ไก่เพิ่มขึ้น 18.6%, นมมีราคาแพงขึ้น 16.4% และผักและผลไม้มีราคาแพงกว่า 8.1%
ส่วนราคาเมนูอาหารตามร้านอาหารก็ปรับตัวขึ้น 7.7% เรียกได้ว่าราคาสินค้าในรอบ 1 ปีปรับตัวขึ้นทั่วหน้า และมีแนวโน้มจะแพงขึ้นอีก หลังอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในยุคที่มีการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ (CPI) มาตรวัดเฟ้อ พุ่งขึ้น 9.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนส่วนใหญ่เกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จากปีก่อนหน้า และชาวอเมริกันทั้งหลายก็เพิ่งจะเผชิญกับราคาน้ำมันที่แพงที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฉลี่ยที่ 5 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ร็อบ ฟ็อกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายแลกเปลี่ยนความรู้ของ CoBank ซึ่งให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงอาหาร ‘ปัญหาที่ลุกลาม’ ได้นำไปสู่ราคาที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ซัพพลายนมที่ลดลงทำให้ราคาสินค้าจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมแพงขึ้น หรือกรณีไข้หวัดนกทำให้ไข่ราคาพุ่ง ส่วนราคาข้าวสาลีและข้าวโพดแพงขึ้นเพราะสงครามยูเครนและสภาพอากาศเลวร้าย ยังไม่นับรวมปัจจัยลบอย่างค่าแรงและค่าบรรจุภัณฑ์ ที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาอาหารส่วนใหญ่ในเวลานี้จะยังคงขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ได้ว่าราคาอาหารกำลังขยับปรับตัวลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อน่าจะมาถึงจุดพีคเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคเริ่มจำกัดการซื้อ หรือเลือกตัวเลือกราคาที่ต่ำกว่าเมื่อทำได้ และลดความต้องการบริโภค จะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลง โดยข้อมูลการสำรวจเบื้องต้นที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อเดือนที่แล้วแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ซื้อบางรายอาจเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ราคาสินค้าจะปรับตัวลดลง สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในทันที โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาจต้องใช้เวลาอีก 6-9 เดือนก่อนที่ราคาจะลดลง แต่ระดับราคาที่ปรับลดส่วนใหญ่ก็ยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาขายเมื่อปี 2021 อยู่ดี
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนมิถุนายนปรับตัวพุ่งขึ้นอีกที่ 9.1% ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจของ Refinitiv คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 8.6% ค่อนข้างมาก แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขยับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% แล้วก็ตาม
แม้ว่าจะเหนือความคาดหมาย แต่นักวิเคราะห์มองว่า บรรดานักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีทจะไม่ได้รับผลกระทบจากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในครั้งนี้มากนัก เนื่องจากมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สามารถคาดหวังในแง่บวกได้อยู่
เหตุผลแรกก็คือ Core Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อหลักรายปี ซึ่งตัดราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ดูเหมือนจะแตะระดับสูงสุดในเดือนมีนาคม ดังนั้นจึงให้ความหวังว่าสถานการณ์พื้นฐานจะดีขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าในร้านขายของชำและก๊าซจะยังคงปรับขึ้นอยู่ก็ตาม
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์พบว่า อัตราเงินเฟ้อหลักในช่วง 12 เดือนถึงมิถุนายนขยับลงเหลือ 5.9% จาก 6% ในเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ หากอุปสงค์ของผู้บริโภคในสินค้ายังคงอ่อนตัวลง เนื่องจากผู้ซื้อหยุดซื้อของที่ราคาสูงและหันไปใช้บริการต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
สำหรับเหตุผลประการที่ 2 ก็คือราคาน้ำมัน โดยความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ทำให้ความคาดหวังเกี่ยวกับความต้องการเชื้อเพลิงลดลง ซึ่งช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ในเดือนนี้ ซึ่งราคาเฉลี่ยสำหรับน้ำมัน 1 แกลลอนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 กรกฎาคม) อยู่ที่ 4.63 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เทียบกับ 4.78 ดอลลาร์ต่อแกลลอนในสัปดาห์ก่อน และ 5.01 ดอลลาร์ต่อแกลลอนเมื่อเดือนที่แล้ว
ทั้งนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั๊มดังกล่าวไม่ได้สะท้อนให้เห็นในข้อมูลเดือนมิถุนายน เนื่องจากราคาน้ำมันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อสำนักสถิติแรงงานรายงานโดยอ้างอิงดัชนี CPI ทำให้ดัชนีน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 11.2% ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
เหตุผลประการที่ 3 ก็คือ ความคาดหวังต่อภาวะเงินเฟ้อในระยะยาว โดยการสำรวจจากธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งนิวยอร์กที่ตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้ แสดงให้เห็นว่าในขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในปีหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่ในเดือนมิถุนายน ความคาดหวังในระยะกลางและระยะยาวกลับปรับตัวลดลง
ทิศทางข้างต้นบ่งชี้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงมีความเชื่อว่า Fed จะสามารถควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยุติการซื้อพันธบัตรในยุควิกฤต โดยที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัว แต่เสถียรภาพด้านราคาจะได้รับการฟื้นฟูในที่สุด
อ้างอิง: