×

สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วจริงหรือไม่ เปิดตัวเลขเศรษฐกิจเทียบกับวัฏจักรขาลงเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

15.08.2022
  • LOADING...
สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วจริงหรือไม่

เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐฯ รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2022 ออกมาลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) จากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะเติบโตได้ 0.4% และยังนับเป็นการหดตัวลงของ GDP ต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาส ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) อย่างเป็นทางการ

 

อย่างไรก็ตาม หากจะระบุช่วงเวลาที่เรียกว่าภาวะถดถอยด้วย GDP อาจไม่ใช่การชี้วัดที่ดีเสมอไป เพราะ GDP เป็นการชี้วัดสภาพเศรษฐกิจที่กว้าง และอาจมีอิทธิพลของปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยตรงมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ประกอบกันด้วย เช่น สถานการณ์ในตลาดแรงงาน, ตัวเลขการจ้างงาน, การบริโภคภาคเอกชน, การจ้างงานนอกภาคการเกษตร ฯลฯ 

 

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) ได้ข้อสรุปว่า ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเป็นภาวะถดถอยหรือไม่ โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ NBER พิจารณาจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่หลากหลายซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจในปีนี้มีความ ‘แข็งแกร่ง’ กว่าภาวะถดถอยในช่วงที่ผ่านมา

 

แม้ว่าสหรัฐฯ จะอยู่ในภาวะถดถอยเชิงเทคนิค แต่หากพิจารณาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อยู่ในทิศทางที่ดีกว่าในวัฏจักรขาลงของเศรษฐกิจในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

 

 

ชาวอเมริกันไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจ และปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาสินค้าจำเป็นพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นทำให้ยากต่อการเข้าถึง จากข้อมูลของ NBER ระบุว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนี้ จะกินเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสูตรตายตัวสำหรับภาวะถดถอย ตัวอย่างเช่น ต้นปี 2020 ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2 เดือน แต่ NBER ได้ออกมายืนยันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการระบาดใหญ่นั้นรุนแรงและส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก

 

เดวิด วิลค็อกซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Peterson Institute for International Economics และ Bloomberg Economics กล่าวว่า “ทุกภาวะถดถอยไม่มีความสุขในแบบของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับ NBER ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหน่วยงานที่ตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะต้องกลั่นกรองตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ และตัดสินใจด้วยวิธีที่ยืดหยุ่น”

 

ขนาดเศรษฐกิจโดยรวม

 

 

GDP เป็นดัชนีที่วัดมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ ถึงแม้ว่า GDP สหรัฐฯ จะหดตัวในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา แต่บ่อยครั้งมีการแก้ไขตัวเลขที่สำคัญหลังจากที่มีการประกาศครั้งแรก โดยการแก้ไขขั้นสุดท้ายมักจะเปลี่ยนแปลงโดยจุดเปอร์เซ็นต์เต็ม

 

นอกจากนี้ NBER ยังคำนึงถึงรายได้รวมในประเทศ (GDI) มาพิจารณาเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตามทฤษฎีแล้ว GDI ควรจะมีค่าเท่ากับ GDP ซึ่งเป็นการวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่ใช้กันทั่วไปมากกว่า อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณแต่ละครั้งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันบ้าง

 

โดยในปีนี้ดัชนีทั้งสองกำลังชี้ไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน GDP ชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังหดตัว ในขณะที่ GDI ชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโต

 

การจ้างงาน

 

 

ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ แสดงให้เห็นภาพที่แข็งแกร่งกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะถดถอยในอดีต

 

โดย NBER พิจารณาตัวเลขทางสถิติการจ้างงานสหรัฐฯ ที่แตกต่างกัน 2 แบบ นั่นก็คือ การจ่ายเงินเดือนที่รายงานโดยภาคธุรกิจ และการสำรวจครัวเรือนโดยตรง ซึ่งพบว่า ทั้งสองตัวเลขทางสถิตินี้มีความแตกต่างอย่างมากในช่วง 6 เดือนแรกของภาวะถดถอยในอดีต

 

นอกจากนี้ยังมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ตำแหน่งงานว่างลดลงเล็กน้อยในเดือนมิถุนายนหลังจากทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ กำลังชะลอการเติบโต แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.5% ในเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด

 

การหารายได้และการบริโภค, การผลิตและการจำหน่าย

 

 

รายได้รวมให้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ้างงาน เนื่องจากสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของชั่วโมงทำงานที่อาจส่งผลให้เกิดการตกงานหรือไม่ก็ได้ และแม้หลังจากปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว รายได้ก็ยังค่อนข้างคงที่

 

ในส่วนของการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงใกล้เคียงกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ราคาสินค้าที่สูงขึ้นทำให้หลายครัวเรือนอยู่ภายใต้ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ สิ่งจำเป็น เช่น ของชำ และน้ำมัน ใช้งบประมาณในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจกระทบต่อรายจ่ายไม่ประจำ (Discretionary Spending)

 

 

ภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของเศรษฐกิจ แต่นักเศรษฐศาสตร์พิจารณาตัวชี้วัดเหล่านี้ เนื่องจากในอดีตมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโดยรวม

 

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IPI) ซึ่งวัดมูลค่าของสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่สูงกว่าภาวะถดถอยครั้งก่อนมาก

 

ในทางกลับกัน มูลค่าที่ปรับอัตราเงินเฟ้อของสินค้าที่ขายในสหรัฐฯ ซึ่งวัดโดยการผลิตจริงและการขายเพื่อการค้าได้ลดลง คล้ายกับรูปแบบของภาวะถดถอยครั้งก่อน ซึ่งอาจเกิดจากการที่การแพร่ระบาดเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายของผู้บริโภค

 

อย่างไรก็ตาม เราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราอยู่ในภาวะถดถอยหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจะเริ่มเมื่อใด แต่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจของ NBER ชี้ให้เห็นภาพที่แตกต่างและซับซ้อนกว่าภาวะถดถอยครั้งก่อน

 

ถ้าเราอยู่ในภาวะถดถอยหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยในเร็วๆ นี้ อาจไม่เหมือนกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งล่าสุดที่เราเผชิญ

 

หากมองย้อนไปในอดีต ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ได้แก่ การล่มสลายทางการเงิน และการระบาดใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจปิดตัวลงอย่างกะทันหัน

 

หากไม่มีวิกฤตในระดับที่ใกล้เคียงกัน โธมัส โคลแมน นักเศรษฐศาสตร์จาก University of Chicago กล่าวว่า ภาวะถดถอยครั้งต่อไปจะเหมือนกับช่วงทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 2000 มากกว่า ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่เกิดการตกงานครั้งใหญ่เหมือนกับในสองภาวะถดถอยที่ผ่านมา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X