สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานความเห็นมุมมองของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พบว่าส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากผลประกอบการของหลายบริษัทในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่านี้ หากไม่มีปัญหาภาวะชะงักงันในระบบห่วงโซ่อุปทานและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ทั้งนี้ พิจารณาจากดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones นักเศรษฐศาสตร์มองว่า GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยรายปีที่ 8.4% หลังจากที่เติบโตเฉลี่ย 6.4% ในไตรมาสแรกปีนี้ ถือเป็นการเติบโตรายไตรมาสที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 1983 โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ต่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 น่าจะเด้งกลับขึ้นได้เร็วขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนเริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ
ขณะเดียวกันปัจจัยด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยไตรมาส 2 มีการเติบโตขึ้นราว 10% ซึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน
ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางบวก เพียงแต่ปัญหาเรื่องซัพพลายอาจรั้งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่พุ่งพรวดร้อนแรงจนเกินไป ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะขยับเข้าใกล้ระดับปกติใกล้เคียงก่อนเกิดการระบาด เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง
ในส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อ สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งออกมาแสดงความเห็นที่ต่างไปจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยืนยันว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นปัจจัยชั่วคราว
สเตฟานี รอธ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ JP Morgan เตือนว่า Fed อย่านิ่งนอนใจเกินไป เพราะมีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด โดยในมุมมองของรอธส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางการเมือง เนื่องจากเงินเฟ้อสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันแผนกระตุ้นด้วยการยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้าน ปีเตอร์ บุคควาร์ มองว่า Fed กำลังเล่นเกมของคนขี้ขลาดที่มีแนวโน้มว่าจะแพ้มากกว่าชนะ โดยในมุมมองของบุคควาร์เห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้ารั้งรอนานเกินไปก็จะเป็นเรื่องยากที่จะปรับลดอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตได้ดี เพราะการปรับลดเงินเฟ้อ จำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวด้วย
ความเห็นครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ บรรดาผู้บริหารธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่หลายรายในสหรัฐฯ เช่น BlackRock และ JP Morgan Chase ได้ออกมาเตือนว่า อัตราเงินเฟ้อสูงอาจไม่ใช่ภาวะชั่วคราวอย่างที่ Fed เชื่อมั่น
อ้างอิง: