×

สหรัฐฯ-จีน อาจแยกตัวทางเศรษฐกิจเร็วขึ้น หลัง แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน

08.08.2022
  • LOADING...
สหรัฐฯ-จีน

การเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่จีนเป็นอย่างมาก เพราะจีนถือว่าไต้หวันเป็นเกาะปกครองตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ดังนั้น รัฐบาลปักกิ่งจึงมองว่าการเดินทางของเพโลซีถือเป็นการรับรองเอกราชโดยพฤตินัยของไต้หวัน

 

สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า การแยกตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอาจจะเกิดเร็วขึ้น แม้ว่าจนถึงตอนนี้ การแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังอยู่ในระดับน้อยมาก โดยในปี 2021 การค้าของสหรัฐฯ กับจีนโดยรวมยังสูงถึง 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดถึง 20%

 

เพโลซีเยือนไต้หวัน ทำให้สหรัฐฯ-จีนมีแรงจูงใจแยกตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น

 

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Financial Times ระบุว่า ตอนนี้ทั้งสหรัฐฯ และจีนมีแรงผลักดันทางการเมืองที่ชัดเจนแล้ว สำหรับการแยกตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีปัจจัยใดที่บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ และจีนจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นในอนาคต

 

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ และจีนกำลังแยกตัวทางเศรษฐกิจเร็วขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ โครงการ ‘Made in China 2025’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นเรื่องการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีของจีน ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เพิ่งลงนามในกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (CHIPS and Science Act) ซึ่งผ่านสภาคองเกรสเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จัดหางบประมาณอุดหนุนวงเงิน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัทชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงที่ลงทุนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว สหรัฐฯ ยังมีการจำกัดการลงทุนในประเทศจีนสำหรับบริษัทที่ได้รับเงินอุดหนุนเป็นเวลา 10 ปีด้วย

 

การแยกตัวอาจไม่เร็วอย่างที่หลายฝ่ายคิด

 

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้การแยกตัวกันทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ 3 ประการ 

 

ประการแรก คือ ความสามารถของสหรัฐฯ ในการนำประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการแยกตัวอาจเปราะบางกว่าที่หลายฝ่ายคิด แม้กระทั่งกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างญี่ปุ่น เนื่องจากแม้ปัจจุบันสหรัฐฯ​ จะพยายามผลักดันให้เกิดการแยกตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยอ้างถึงความพยายามในการปกป้องความมั่นคงของชาติหรือเศรษฐกิจ แต่ความพยายามสั่นคลอนเศรษฐกิจจีนมากเกินไป อาจจะทำให้ผู้คนหรือประเทศอื่นๆ เลื่อมใสสหรัฐฯ น้อยลง

 

ประการที่ 2 คือ ภาคธุรกิจทั้งฝั่งจีนและสหรัฐฯ ยังคงต่อต้านการแยกตัวทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองจะวุ่นวายแค่ไหนก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การลงทุน และห่วงโซ่อุปทาน ไม่สามารถตัดขาดกันได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากตลาดจีนยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตระยะยาวและน่าดึงดูดที่สุดอยู่ นอกจากนี้ บริษัทในจีนก็ยังไม่สามารถเลิกใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศได้

 

ประการที่ 3 คือ เวลา แม้ว่าเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วสามารถสร้างแรงจูงใจทางภาษี และดึงห่วงโซ่การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกจากจีนกลับเข้าสู่สหรัฐฯ ได้ เป็นการสนับสนุนการแยกตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ตามการประเมินของนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ระบุว่า ในความเป็นจริงนั้น กระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลานาน 4-7 ปี

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising