การประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนตามเวลาท้องถิ่นนั้น ถือเป็นอีก 1 ความสำเร็จของการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกของปีนี้ที่อาจเรียกได้ว่า ‘ประสบความสำเร็จเกินคาด’ เพราะนอกจากภาพที่ออกมาอย่างสวยงามระหว่างการประชุม หรือภาพการพูดคุยระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา-จีนที่ดูผ่อนคลายและมีผลลัพธ์ในการฟื้นความสัมพันธ์หลายด้านที่ตามมาอย่างรวดเร็ว ทางเจ้าภาพอย่างสหรัฐฯ เองก็สามารถบรรลุเป้าหมายการรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC หรือปฏิญญาโกลเดนเกต (Golden Gate Declaration) และออกแถลงการณ์ในฐานะประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC (Chair’s Statement on the APEC Economic Leader’s Meeting) ของตัวเองอีกด้วย
เนื้อหาของปฏิญญาโกลเดนเกต และแถลงการณ์ประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ของสหรัฐฯ
สำหรับปฏิญญาโกลเดนเกต หรือ Golden Gate Declaration เนื้อหาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ธีมหลักของการประชุมคือ ‘การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน’ ในปฏิญญามีการย้ำถึงภารกิจโดยรวมที่เคยกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ปุตราจายาปี 2040 และแผนปฏิบัติการ ‘เอาทีอารอ’ (Aotearoa) เพื่อสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัว และสงบสุขภายในปี 2040
นอกจากนั้นยังมีการระบุถึงการต่อยอดผลงานจากการประชุม APEC ครั้งก่อนที่กรุงเทพฯ ในเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เร่งด่วนที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบที่สามารถควบคุมได้ และในปฏิญญายังระบุถึงการค้าลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง ยุติธรรม การมีส่วนร่วม สนับสนุนกลไกพหุภาคีโดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นศูนย์กลาง และยังยืนยันที่จะปฏิรูปองค์การการค้าโลกในส่วนที่จำเป็น รวมถึงการปฏิรูปกลไกระงับข้อพิพาท
รวมถึงยังมีการพูดถึงการส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกให้มากขึ้นเป็นสามเท่า การปรับปรุงคุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร ความเท่าเทียมทางเพศ และฐานะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจนอกระบบให้อยู่ในระบบ เศรษฐกิจดิจิทัล ความปลอดภัยด้าน ICT การต่อสู้คอร์รัปชัน ฯลฯ
ในขณะที่แถลงการณ์ประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ของสหรัฐฯ ออกมาระบุถึงเรื่องของสงครามยูเครน และเรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกจากยูเครนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยระบุว่าสมาชิกส่วนใหญ่ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างรุนแรง รวมถึงผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการทำสงครามในยูเครน และยังระบุด้วยว่ามีการหารือเกี่ยวกับวิกฤตในฉนวนกาซา แต่ในการประชุมครั้งนี้มีผู้นำบางคนคัดค้านที่จะนำประเด็นนี้ใส่ไว้ในปฏิญญาโกลเดนเกต ด้วยเหตุผลที่ว่าเวที APEC ไม่ใช่เวทีในการหารือเกี่ยวกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์
ความเท่าเทียมและสิทธิสตรีเป็นหนึ่งในเนื้อหาของปฏิญญาโกลเดนเกต และส่งต่อไปยังการเป็นเจ้าภาพของเปรูในปีหน้า
ในปี 2011 การประชุม Women and the Economy Forum เริ่มต้นครั้งแรกที่นครซานฟรานซิสโก ทำให้เรื่องราวของสตรีได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกบรรจุไว้ในปฏิญญาโกลเดนเกตของปีนี้ มีเนื้อหาที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของสตรี การส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความเป็นผู้นำ และความเท่าเทียมของสิทธิสตรีในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และส่งต่อไปยังการประชุม APEC ในปีหน้า โดย ดินา โบลัวร์เต ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเปรู กล่าวหลังจากที่รับไม้ต่อจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ว่า APEC ในปีหน้าจะเน้นการผลักดันความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชายอย่างต่อเนื่อง และให้ความเคารพในสิทธิสตรีทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการจ้างงานมากยิ่งขึ้น
การพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ-จีนอย่างชื่นมื่น ยืนยันความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้
ภาพการพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีน ท่ามกลางบรรยากาศความงดงามของคฤหาสน์ ‘ฟิโลลี’ ที่เคยเป็นฉากของภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้เรื่อง The Wedding Planner ในปี 2001 ดูเหมือนเป็นการจัดวางที่ลงตัวในลักษณะที่เรียกว่าบรรยากาศเป็นใจ ทำให้ผู้นำทั้งสองดูอ่อนโยนลงในสายตาชาวโลก รอยยิ้ม มุกตลกที่เผยแพร่ออกทางสื่อต่างๆ และการเจรจาที่ยาวนานถึง 4 ชั่วโมง สร้างผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจในสายตาของสื่อมวลชนอาวุโสและนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศของไทยอย่าง กวี จงกิจถาวร โดยกวีบอกกับทีมงานของ THE STANDARD ว่า การพบกันของผู้นำทั้งสองประเทศถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์อีกขั้น แม้จะยังไม่กลับไปดีถึงขั้นความสัมพันธ์เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่อย่างน้อยก็มีข้อตกลง และเราอาจคาดการณ์ทิศทางได้
กวียังบอกอีกว่าการเจรจาในครั้งนี้มีประเด็นหลักๆ 3 ประเด็นที่ถือว่าน่าพอใจ ประเด็นแรกก็คือการฟื้นฟูการสื่อสารระดับสูงด้านการทหารระหว่าง 2 ประเทศอีกครั้ง เพื่อขจัดความเข้าใจผิดหลังจากที่หยุดการสื่อสารมาเป็นเวลากว่า 3 ปี
ในประเด็นที่ 2 กวีมองว่าเป็นเรื่องของนโยบาย ‘จีนเดียว’ หรือ One China Policy ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ รับปากว่าจะยืนหยัดในนโยบายจีนเดียว ในขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเองก็ยืนยันว่าจะไม่มีการใช้กำลังอาวุธกับไต้หวัน
และประเด็นที่ 3 คือด้านการค้าการลงทุนที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับว่า การแข่งขันต้องมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน ไม่สามารถแข่งขันอย่างโดดเดี่ยวได้ โดยต่างฝ่ายต่างยินดีที่จะเปิดรับการค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น
นอกจากทั้ง 3 ประเด็นที่กวีกล่าวมาแล้ว ในการหารือของผู้นำสหรัฐฯ-จีน ยังมีการพูดถึงประเด็นสารเคมีจากจีนที่ใช้ในการผลิตเฟนทานิลของสหรัฐฯ ที่ไบเดนได้นำไปหารือต่อกับประเทศที่ 3 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเม็กซิโกด้วย นอกจากนั้นสหรัฐฯ และจีนยังหารือกันในประเด็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสำคัญๆ อีกด้วย
หนึ่งในประโยคเด็ดที่สีจิ้นผิงกล่าวในการพบกับโจ ไบเดนในครั้งนี้ก็คือ “โลกใบนี้ใหญ่พอที่ทั้งสองประเทศจะประสบความสำเร็จร่วมกัน” (这个地球容得下中美两国) กลายเป็นคำค้นหาอันดับ 2 ในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนอย่าง Weibo ถึงกว่า 2.7 ล้านครั้ง ในช่วงการพบกันของสองผู้นำ
และล่าสุดสื่อทางการของจีนยังเปิดเผยว่า สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรต่อของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน และมีการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างจีน-สหรัฐฯ มากขึ้นถึง 1 เท่าตัว โดยมีบางเส้นทาง เช่น ปักกิ่ง-บอสตัน-ซีแอตเทิล-ปักกิ่ง ที่หยุดบินมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน ก็จะกลับมาบินอีกครั้ง และมีแนวโน้มว่าค่าโดยสารจะถูกลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งก็นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เป็นผลโดยตรงจากการพบกันระหว่างสองผู้นำของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการประชุม APEC ในครั้งนี้ที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนทั่วโลกและเกินความคาดหมาย
ภาพ: Brendan Smialowski / AFP
อ้างอิง: