รัฐบาลสหรัฐอเมริกายื่นเงื่อนไขให้บริษัท ByteDance ของจีน ถอนการลงทุนจากแอปพลิเคชัน TikTok ไม่เช่นนั้นแอปแชร์วิดีโอสุดฮิตจะถูกแบนการใช้งานทั่วสหรัฐฯ
Wall Street Journal (WSJ) เป็นสื่อแรกที่รายงานข่าวนี้ ก่อนที่ TikTok จะยืนยันกับ BBC ว่าเป็นเรื่องจริง ขณะที่ทำเนียบขาวยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ WSJ รายงานว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการให้บริษัท ByteDance ของจีน ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok ถอนการลงทุนจากแอปเพื่อตัดความเกี่ยวข้องทั้งหมดระหว่าง TikTok กับจีน นอกจากนี้ WSJ ยังรายงานด้วยว่า คณะกรรมการการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา (CFIUS) ซึ่งควบคุมดูแลความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรให้ ByteDance ถอนการลงทุนจาก TikTok
โฆษกของ TikTok ไม่โต้แย้งรายงานของ WSJ ทั้งยังยืนยันด้วยว่าได้รับการติดต่อจาก CFIUS จริง
อย่างไรก็ตาม โฆษกกล่าวว่า ข่าวที่สื่อรายงานนั้นเกินจริง และยังไม่ชัดเจนว่า ‘การถอนการลงทุน’ หมายถึงอะไรในทางปฏิบัติ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ต่างออกมาแสดงความกังวลว่าข้อมูลจากแอปยอดนิยมอาจตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี โฆษก TikTok กล่าวว่า การขายกิจการ TikTok จะไม่ช่วยแก้ไขความกังวลของวอชิงตัน เนื่องจากแม้ขายแอปออกไป การไหลของข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูลก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“หากการปกป้องความมั่นคงของชาติคือเป้าหมาย การถอนการลงทุนจะไม่ช่วยแก้ปัญหา การเปลี่ยนเจ้าของจะไม่ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดใดๆ ต่อการไหลของข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูล” โฆษก TikTok กล่าว “วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ คือการปกป้องระบบและข้อมูลของผู้ใช้ในสหรัฐฯ อย่างโปร่งใส”
TikTok ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขู่แบนเป็นครั้งแรกในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2020 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคณะบริหารของไบเดนมีมุมมองต่อแอปสัญชาติจีนนี้ไม่ต่างกันเท่าไรนัก
TikTok ดูดข้อมูลจำนวนมหาศาลของผู้ใช้งาน คล้ายกับ Instagram และ Twitter ที่สามารถดึงข้อมูลไบโอเมตริกและเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้ แต่สิ่งที่วอชิงตันกลัวคือ ข้อมูลจากแอป TikTok อาจถูกส่งต่อไปยังรัฐบาลจีน
TikTok เปิดเผยว่า แอปพยายามที่จะย้ายข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้ในสหรัฐฯ ไปเก็บไว้ในสหรัฐฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มที่มีชื่อว่า Project Texas ซึ่งทางบริษัทเผยว่ายังคงเดินหน้าตามแผนดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้มีขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เปิดเผยกฎหมายฉบับใหม่ที่อาจเพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดีสามารถแบน TikTok ได้ทั่วประเทศ
กฎหมายดังกล่าว ได้แก่ Restrict Act ซึ่งจะอนุญาตให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สามารถประกาศให้บริษัทที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้ โซวจื่อโจว ซีอีโอของ TikTok มีกำหนดขึ้นให้การต่อหน้าสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายจับตา
ภาพ: Dan Kitwood / Getty Images
อ้างอิง: