×

สหรัฐฯ เผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2021 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

09.06.2023
  • LOADING...
สวัสดิการว่างงาน

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 28,000 ราย สู่ระดับ 261,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย

 

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ออกไปแล้ว ปรับเพิ่มขึ้น 7,500 ราย สู่ระดับ 237,250 ราย

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 37,000 ราย สู่ระดับ 1.76 ล้านราย

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จำนวนคนอเมริกันที่ยื่นคำร้องขอสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานกำลังชะลอตัวท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

แม้จะมีการยื่นขอสวัสดิการว่างงานจำนวนมาก แต่การเรียกร้องยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ตึงตัว โดยรัฐบาลสหรัฐฯ รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เพิ่มการจ้างงาน 339,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคมจะเพิ่มสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 3.7% จาก 3.4% ในเดือนเมษายนก็ตาม 

 

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า การเติบโตของงานได้รับแรงหนุนจากภาคบริการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในอุตสาหกรรมสันทนาการและการโรงแรม โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวกำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนแรงงาน และประสบปัญหากับการหาคนงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพและการศึกษาก็ประสบปัญหาการเกษียณอายุอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิดเช่นกัน

 

การขอรับสวัสดิการการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสัญญาณของรอยร้าวที่ก่อตัวขึ้นในตลาดแรงงาน สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) รายงานเมื่อวันจันทร์ (5 มิถุนายน) ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อหรือ PMI ภาคบริการลดลงในเดือนพฤษภาคม โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจ้างงานที่อ่อนแอ

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (8 มิถุนายน) ปิดตลาดปรับตัวในแดนบวก โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากกว่า 160 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดแตะระดับสูงสุด ทำนิวไฮในปีนี้ 

 

รายงานระบุว่า ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 168.59 จุด หรือ 0.5% ปิดที่ 33,833.61 จุด ส่วน ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.62% ที่ 4,293.93 ซึ่งถือเป็นระดับปิดสูงสุดในปี 2023 ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite เพิ่มขึ้น 1.02% ปิดที่ 13,238.52 จุด

 

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของผู้รับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) 

 

นอกจากนี้ ตลาดได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์จะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐฯ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของราคาทองคำ มีการปรับตัวขึ้น โดยราคาทองฟิวเจอร์สพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุระดับ 1,980 ดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ที่ช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

 

นอกจากนี้ ราคาทองยังได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า แม้ธนาคารกลางแคนาดาและออสเตรเลียจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 มิถุนายน)

 

รายงานระบุว่า นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤษภาคม ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ก่อนที่ Fed จะประกาศผลการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 14 มิถุนายน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปและดัชนี CPI พื้นฐานที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของ Fed 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X