บรรยากาศตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม) ปิดตลาดปรับตัวในแดนลบทั้งกระดาน ขานรับรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่พบว่าเงินเฟ้องวดล่าสุดในเดือนเมษายนยังคงสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้
โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดปรับตัวดาวโจนส์ลดลง 326.63 จุด หรือ 1.02% ปิดที่ 31,834.11 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 65.87 จุด หรือ 1.65% ปิดที่ 3,935.18 จุด ทำสถิติต่ำสุดระลอกใหม่ในรอบ 52 สัปดาห์ อีกทั้งยังลดลงเร็วกว่า 17% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลดลง 373.43 จุด หรือ 3.18% ปิดที่ 11,364.24 จุด
ความเคลื่อนไหวข้างต้นมีขึ้นหลังจากที่ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 1981
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ที่ระดับ 6.0% แต่ต่ำกว่าระดับ 6.5% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1982
นักวิเคราะห์ประเมินว่า พิจารณาจากบรรยากาศโดยรวม ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภครายเดือนของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่มีการส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้ออาจถึงจุดสูงสุดแล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะตัวเลขเงินเฟ้อแม้จะสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้แต่ก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนมีนาคมก่อนหน้า
ด้านราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเกือบ 6 ดอลลาร์ โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 5.95 ดอลลาร์ ปิดที่ 105.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 5.05 ดอลลาร์ ปิดที่ 107.51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลยูเครนออกคำสั่งระงับไม่ให้ใช้เส้นทางขนส่งก๊าซและน้ำมันของรัสเซียผ่านประเทศของตนเอง นับเป็นครั้งแรกที่การส่งออกผ่านยูเครนต้องเผชิญกับความวุ่นวายนับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากรุกราน
ขณะที่ราคาทองคำ เมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม) สามารถปิดตลาดในแดนบวก โดยทำสถิติขยับปรับขึ้นภายในวันเดียวมากสุดในรอบ 1 สัปดาห์ เหตุผลเพราะนักลงทุนต่างหันมาถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างทองคำ เพื่อบรรเทาความกังวลต่อข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สูงเกินคาด โดยราคาทองคำโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 12.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,853.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศตลาดหุ้นของภูมิภาคยุโรปกลับสวนทางกับตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ เนื่องจากสามารถปิดตลาดปรับตัวฟื้นขึ้นมาในแดนบวก สะท้อนให้เห็นว่ารายงานตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ไม่มีผลกระทบใดๆ กับนักลงทุน
รายงานระบุว่า ดัชนีแพน–ยูโรเปียน สตอกซ์ 600 ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% โดยหุ้นในกลุ่มยานยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ 3.6% ตามด้วยหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่ขยับปรับขึ้นมาในแดนบวกถ้วนหน้า ยกเว้นหุ้นในกลุ่มดูแลสุขภาพหรือเฮลท์แคร์ที่ลดลง 1.2%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นในยุโรปยังได้รับแรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของหลายบริษัทในหลายภาคส่วนของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำอย่าง Alstom, Commerzbank, Continental, E.On, Siemens Energy, Thyssenkrupp และ TUI ที่อยู่ในระดับดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์เห็นว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความเปราะบาง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมพลังงาน บวกกับอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศของยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง เช่น เยอรมนี พี่ใหญ่ของภูมิภาค ที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดประจำเดือนเมษายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.4% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1981
ในส่วนของสถานการณ์สกุลเงินดิจิทัล สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ราคาบิทคอยน์ที่ดิ่งลงแรงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงให้กับทาง Coinbase แพลตฟอร์มซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซีชั้นนำระดับโลก เห็นได้จากรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ที่ตัวเลขขาดทุนเป็นครั้งแรก ขณะที่รายได้ลดลงจากปีก่อนหน้า 27% มากกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทคาดการณ์กันไว้ ทำให้เมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม) หุ้นของ Coinbase ปรับตัวดิ่งลงหนักสุดมากกว่า 25% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/economy/2022/5/11/us-stocks-slide-on-data-showing-us-inflation-to-remain-high
- https://www.cnbc.com/2022/05/10/stock-market-futures-open-to-close-news.html
- https://www.cnbc.com/2022/05/11/european-market-investors-look-ahead-to-us-inflation-data-for-april.html
- https://edition.cnn.com/2022/05/11/investing/coinbase-stock-bitcoin-cryptocurrencies/index.html