×

เมืองในสหรัฐอเมริกาเสี่ยงเจออุณหภูมิสูงเท่าตะวันออกกลางในอีก 80 ปีข้างหน้า หากมนุษย์ไม่แก้วิกฤตโลกรวน

02.08.2022
  • LOADING...
สหรัฐอเมริกา

ผลการวิเคราะห์ล่าสุดเปิดเผยว่า วิกฤตโลกรวนอาจส่งผลให้ 16 เมืองในสหรัฐอเมริกาเสี่ยงอุณหภูมิทะยานเทียบเท่ากับภูมิภาคตะวันออกกลางภายในปี 2100

 

คลื่นความร้อนได้แผ่ปกคลุมหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ ในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยภูมิภาคเกรตเพลนส์ในอเมริกาเหนือมีอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส ส่วนเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ อุณหภูมิสูงแตะ 37 องศาเซลเซียส และเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน อุณหภูมิทะยานแตะ 38.9 องศาเซลเซียส

 

ข้อมูลจาก Climate Central ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่วิเคราะห์และรายงานผลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลก เปิดเผยว่า อุณหภูมิช่วงฤดูร้อนในหลายเมืองของสหรัฐฯ ในปี 2100 จะมีสภาพอากาศเหมือนกับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไปทางตอนใต้เฉลี่ยราว 437 ไมล์ หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะมีอากาศเหมือนเมืองออสตินในรัฐเท็กซัส ส่วนเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ จะมีอากาศคล้ายกับเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นต้น

 

ส่วนอีกหลายเมืองจะมีสภาพอากาศเหมือนกับต่างประเทศ ขณะที่บางเมืองอาจมีสภาพอากาศที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสุดขั้วภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยช่วงฤดูร้อนของเมืองออสตินในรัฐเท็กซัสจะมีอากาศไม่ต่างจากดูไบในปัจจุบัน เมืองฟีนิกซ์ในรัฐแอริโซนาจะมีอากาศเหมือนกับซาอุดีอาระเบีย และลาสเวกัสจะมีอุณหภูมิเหมือนคูเวต

 

ปีเตอร์ จิราร์ด โฆษกของ Climate Central กล่าวว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากคลื่นความร้อนรุนแรง ซึ่งปัจจุบันมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่ผลการศึกษาจากหลายแห่งออกมาตรงกันว่า สภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้คลื่นความร้อนมีแนวโน้มจะอยู่ยาวนานกว่าเดิม จนท้ายที่สุดคลื่นความร้อนที่รุนแรงจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะสร้างอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมาก 

 

ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นราว 1.2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรง และไฟป่าที่ลุกลามรวดเร็วในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไร ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น 

 

อากาศที่ร้อนจัดเปรียบได้กับฆาตกรไร้เสียง ซึ่งจะผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าปัญหาด้านสภาพอากาศอื่นๆ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อชะลอไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปยิ่งกว่านี้ และยังเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลได้วางแผนกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากวิกฤต

 

แฟ้มภาพ: John Smith / VIEWpress

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X