สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรปฏิเสธที่จะลงนามในปฏิญญาว่าด้วย AI ที่ ‘ครอบคลุมและยั่งยืน’ (Inclusive and Sustainable) ในการประชุมสุดยอด Paris AI Action ณ กรุงปารีส ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อความหวังของชาติต่างๆ ที่ต้องการสร้างแนวทางสำหรับการพัฒนาและกำกับดูแล AI ร่วมกัน
แถลงการณ์ระบุประเด็นสำคัญหลายประการ รวมถึง ‘การทำให้ AI เป็นเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ครอบคลุม โปร่งใส มีจริยธรรม ปลอดภัย เชื่อถือได้ และคำนึงถึงกรอบการทำงานระดับนานาชาติสำหรับทุกฝ่าย’ และ ‘การทำให้ AI มีความยั่งยืนต่อผู้คนและโลกใบนี้’ โดยเอกสารฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงฝรั่งเศส จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนาดา
อย่างไรก็ตาม อังกฤษมองว่า แถลงการณ์ดังกล่าวยังให้ข้อมูลไม่มากพอในการจัดการด้านธรรมาภิบาลระดับโลกของ AI และผลกระทบของเทคโนโลยีนี้ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ
“เรามีความเห็นสอดคล้องกับเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ระบุไว้ในปฏิญญา และจะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งเห็นได้จากการที่เราลงนามในข้อตกลงด้านความยั่งยืนและความมั่นคงทางไซเบอร์ในวันนี้ที่การประชุมสุดยอด Paris AI Action” โฆษกกล่าว
“อย่างไรก็ตาม เรามองว่าปฏิญญาฉบับนี้ยังขาดความชัดเจนในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลระดับโลก และไม่มีข้อมูลเพียงพอในประเด็นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงแห่งชาติและความท้าทายที่ AI ก่อขึ้น”
ทั้งนี้ เมื่อนักข่าวถามว่าอังกฤษเลือกตัดสินใจเช่นนี้เพราะต้องการเดินตามทิศทางของสหรัฐฯ หรือไม่นั้น โฆษกของ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า พวกเขาไม่ทราบเหตุผลหรือจุดยืนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับปฏิญญานี้
แต่ในทางกลับกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเลเบอร์รายหนึ่งกล่าวว่า “ผมคิดว่าเราแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเดินตามสหรัฐฯ” พร้อมเสริมว่าบริษัท AI ของสหรัฐฯ อาจหยุดให้ความร่วมมือกับสถาบัน AI Safety Institute ของรัฐบาลอังกฤษ หากอังกฤษถูกมองว่ากำลังกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดเกินไปในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้
ด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของอังกฤษ โดยระบุว่าการปฏิเสธลงนามในปฏิญญานี้อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศในด้าน AI โดย แอนดรูว์ ดัดฟิลด์ หัวหน้าฝ่าย AI ขององค์กร Full Fact กล่าวว่า อังกฤษเสี่ยงที่จะ “บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือที่สร้างมาอย่างยากลำบาก ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรม AI ที่ปลอดภัย มีจริยธรรม และน่าเชื่อถือ” พร้อมย้ำว่ารัฐบาลควรดำเนินมาตรการที่กล้าหาญกว่านี้ เพื่อปกป้องประชาชนจากข้อมูลเท็จที่สร้างขึ้นโดย AI
ไกอา มาร์คัส ผู้อำนวยการสถาบัน Ada Lovelace ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยด้าน AI กล่าวว่า เธอหวังว่าสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจจะไม่ใช่การปฏิเสธ “แนวทางธรรมาภิบาลระดับโลกที่จำเป็นต่อ AI”
-
แวนซ์วิจารณ์ยุโรปยับ พร้อมเตือนถึงความเสี่ยงในการร่วมมือกับจีน
การปฏิเสธลงนามในปฏิญญาดังกล่าวของอังกฤษได้รับการยืนยันไม่นาน หลังจากที่ เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวบนเวทีที่ Grand Palais พร้อมวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่ายุโรปมีกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีที่ “เข้มงวดเกินไป” พร้อมเตือนถึงความเสี่ยงในการร่วมมือกับจีน
สุนทรพจน์อันดุเดือดของแวนซ์ ซึ่งกล่าวต่อหน้าผู้นำระดับโลกหลายคน รวมถึง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย สะท้อนถึงความไม่พอใจต่อแนวทางการกำกับดูแลและพัฒนา AI ในระดับสากล ขณะที่สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ของอังกฤษไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยมีปีเตอร์ ไคล์ รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยี มาเป็นตัวแทน
แวนซ์ซึ่งเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตือนถึงแนวทางกำกับดูแลของสหภาพยุโรป โดยกล่าวว่า “การกำกับดูแล AI ที่เข้มงวดเกินไปอาจทำลายอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก”
แวนซ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราต้องการระเบียบข้อบังคับระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการพัฒนา AI ไม่ใช่ปิดกั้น และเราต้องการให้มิตรของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากยุโรป มองไปยังพรมแดนใหม่แห่งนี้ด้วยความหวัง แทนที่จะหวาดกลัว”
แวนซ์ยังกล่าวถึงความเสี่ยงในการร่วมมือกับรัฐบาลที่มีระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงจีนโดยตรงแม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศก็ตาม เขาอ้างถึงการส่งออกกล้องวงจรปิด (CCTV) และอุปกรณ์ 5G ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีหลักของจีน โดยกล่าวว่า “การเป็นพันธมิตรกับระบอบเหล่านี้ ไม่เคยให้ผลดีในระยะยาว”
และในขณะที่ จางกั๋วฉิง รองนายกรัฐมนตรีจีน นั่งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตร แวนซ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “บางคนในที่นี้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์แล้วว่า การร่วมมือกับพวกเขาหมายถึงการล่ามโซ่ประเทศของคุณไว้กับอำนาจเผด็จการที่ต้องการแทรกซึม ฝังราก และยึดโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของคุณไว้ในมือ”
เขายังเตือนถึงข้อตกลงที่ดูดีเกินจริง โดยกล่าวว่า “หากคุณไม่ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ นั่นหมายความว่าคุณคือผลิตภัณฑ์”
ภาพ: Benoit Tessier / Reuters
อ้างอิง: