กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาเดินหน้าฟ้องร้อง Apple บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ในคดีผูกขาด โดยให้เหตุผลว่า Apple ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดจากการจำกัดคู่แข่งและตัวเลือกของผู้บริโภค เพื่อรักษาอำนาจเหนือตลาดสมาร์ทโฟนผ่าน iPhone
การร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรมฯ และ 16 รัฐต่างๆ รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นำไปสู่การฟ้องร้องที่ระบุว่า Apple พยายามทำให้ผู้ใช้ติดอยู่กับ iPhone โดยกีดกันทางเทคนิคไม่ให้ทำงานอย่างราบรื่นกับอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งจะลดแรงจูงใจในการเปลี่ยนไปใช้สมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น
นอกจากนี้ Apple ยังถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นแอปพลิเคชันคู่แข่งที่อาจลดความจำเป็นในการใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple เช่น Apple Wallet
ทางการสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะยุติพฤติกรรมเหล่านี้ โดยอาจไปถึงขั้นร้องขอให้ศาลสั่งแยกส่วนธุรกิจของ Apple ซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรง โดยการฟ้องร้องมุ่งเป้าไปที่ iPhone ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ Apple โดยระบุว่า Apple ใช้กลยุทธ์มากมายเพื่อสร้าง ‘คูเมือง’ ปกป้องอาณาจักรสมาร์ทโฟนของตนเอง
ประเด็นหลักในคดีฟ้องร้อง
- กลยุทธ์สร้างคูรอบป้อมปราการ: รัฐบาลมองว่า Apple จงใจออกแบบประสบการณ์การใช้งาน iPhone (และผลิตภัณฑ์อื่นๆ) ในลักษณะที่ปิดกั้นคู่แข่ง และมอบสิทธิพิเศษให้ผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรม
- ขัดขวางการทำงานร่วมกันของระบบต่างยี่ห้อ: ตัวอย่างหนึ่งคือการที่ Apple ทำให้การส่งข้อความระหว่างผู้ใช้ iPhone กับ Android มีความยุ่งยากซับซ้อน (เห็นได้จากฟองข้อความสีเขียวเวลาแชตข้ามค่าย) ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่า Android เป็นระบบด้อยคุณภาพกว่า
- ผูกขาดดิจิทัลวอลเล็ต: Apple Wallet เป็นแอปพลิเคชันเดียวที่ใช้ชิป NFC ใน iPhone ได้ ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องพึ่งพา Apple Wallet แม้จะมีความต้องการสร้างช่องทางชำระเงินของตัวเอง
- บล็อกคู่แข่งในธุรกิจเกม: Apple ไม่อนุญาตแอปพลิเคชันประเภท Cloud-Game Streaming ที่อาจทำให้ผู้บริโภคใช้ iPhone น้อยลง
- การปิดกั้นไม่ให้เกิด Super Apps: Apple กีดกันไม่ให้มีแอปพลิเคชันที่ให้บริการครบวงจรในที่เดียว ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงกับระบบนิเวศของ Apple เอง
คดีนี้สะท้อนถึงการตรวจสอบ Apple อย่างเข้มข้นจากรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังเป็นคดีต่อต้านการผูกขาดครั้งล่าสุดต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี หลังจากที่ Google, Meta และ Amazon ก็เผชิญแรงกดดันในลักษณะเดียวกัน
Apple ออกมาตอบโต้โดยระบุว่า คดีนี้เป็นภัยคุกคามต่อจุดยืนของ Apple และตัวผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคนิยม โดยย้ำว่า ความปลอดภัยของ iPhone นั้นมาจากระบบควบคุมที่เข้มงวดของบริษัท มีความปลอดภัยเหนือกว่าคู่แข่ง หากรัฐบาลบังคับให้ Apple เปิดระบบจะส่งผลต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โดยตรง
Apple มีแผนยื่นคำร้องขอให้ยกฟ้องภายใน 60 วันข้างหน้า และยืนยันว่ากฎหมายต่อต้านการผูกขาดไม่ได้ห้ามบริษัทสร้างนโยบายหรือดีไซน์ที่ส่งเสริมประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่า แม้คู่แข่งจะไม่เห็นด้วย
Apple เคยประสบความสำเร็จในการต่อสู้คดีต่อต้านการผูกขาดเมื่อครั้งถูกฟ้องเรื่องนโยบาย App Store โดยเน้นย้ำถึงความปลอดภัยที่เหนือกว่า และย้ำว่า ผู้ใช้มีทางเลือกในการเปลี่ยนมาใช้ระบบ Android ได้ ขณะที่ฝ่ายผู้ฟ้องจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่านโยบายต่างๆ ของ Apple ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน
กรณีนี้ถือเป็นบททดสอบสำคัญในยุคที่มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดอย่างเข้มข้น และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้ง Apple เองและผู้บริโภค ซึ่งผลการตัดสินจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ข้อสรุป
ภาพ: Alexi Rosenfeld / Getty Images
อ้างอิง: