ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งสัญญาณชัดเจนว่า Fed พร้อมใช้นโยบายแข็งกร้าวในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 2-3 เดือน หลังจากที่ Fed ยุติโครงการซื้อคืนพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่สูงเกินกว่าเป้าหมายที่ Fed ตั้งใจไว้ที่ 2 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ แม้ว่าทางคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed จะไม่ได้กำหนดวันเวลาในการสิ้นสุดของ QE ที่ชัดเจน กระนั้นผลการประชุมก็แสดงให้เห็นว่า ที่ประชุมเห็นพร้อมที่จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลภายในปี 2022 นี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การออกมาเปิดเผยรายงานครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความคาดหวังของตลาดที่ประเมินว่า Fed มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ต่อไปว่า Fed จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลของตนก่อนฤดูร้อนในปีนี้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม Fed ยังได้ย้ำอีกหลายครั้งในระหว่างการประชุมว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่นำมาประยุกต์ใช้ในช่วงที่การระบาดของไวรัสโควิดเริ่มต้นขึ้นเป็นแนวทางที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป
ขณะที่ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงาน ยังคงเป็นสองประเด็นหลักที่ Fed ให้ความสนใจ
สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของ Fed ประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ทาง Fed มีมติเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับลดวงเงิน QE ของ Fed ได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้ Fed ยุติการทำ QE ได้ในเดือนมีนาคมนี้
ท่าทีของ Fed ที่บ่งชี้ว่าบรรดาคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินพร้อมที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ในปีหน้า ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ดีดตัว ยังส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนเมื่อวานนี้ (5 มกราคม) ปรับตัวร่วงหนักเป็นครั้งแรกของปี 2022
โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 392.54 จุด หรือ 1.07% ปิดที่ 36,407.11 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ขยับลดลง 92.96 จุด หรือ 1.94% ปิดที่ 4,700.58 จุด และดัชนีแนสแด็กปรับลดลง 522.54 จุด หรือ 3.34% ปิดที่ 15,100.17 จุด
นักวิเคราะห์มองว่าดัชนีปรับตัวดิ่งลงอย่างแรงเพราะนักลงทุนกังวลต่อท่าทีแข็งกร้าวของเหล่าคณะกรรมการที่จะใช้นโยบายรัดเข็มขัดเร็วกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ด้านผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งอธิบายว่า การที่ Fed พร้อมใช้นโยบายรัดเข็มขัด ซึ่งหมายรวมถึงการปรับลดขนาดงบดุล เป็นการที่ Fed ดึงสภาพคล่องออกจากตลาด ทำให้ไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากเสี่ยงที่จะลงทุน โดยเปรียบเทียบว่าการที่ Fed ดึงสภาพคล่องออกจากตลาด ไม่ต่างอะไรกับการเข้าซื้อหุ้นของโค้กในจังหวะที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ประกาศขาย
ทั้งนี้ ท่าทีของ Fed ได้ผลักดันให้นักลงทุนหันถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างทองคำ ดันให้ราคาทองคำเมื่อวานนี้ ( 5 มกราคม) ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 10.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,825.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังได้คาดการณ์แนวโน้มทิศทางราคาทองคำในปี 2022 นี้ว่ามีสิทธิ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,100 ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนหันหน้าเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ
ส่วนราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ (5 มกราคม) ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่ม OPEC+ ยึดคำมั่นในข้อตกลงเพิ่มกำลังผลิตตามเดิม และคลังปิโตรเลียมสำรองสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากความกังวลทางอุปสงค์ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่พุ่งสูง
โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ ปิดที่ 77.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ ปิดที่ 80.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/01/05/fed-minutes-december-2021.html
- https://www.cnbc.com/2022/01/04/stock-market-futures-open-to-close-news.html
- https://www.cnbc.com/2022/01/05/investing-in-gold-fat-prophets-analyst-says-gold-could-test-new-highs.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP