นักวิเคราะห์ประเมินทิศทางตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ พบสัญญาณหนุนให้ตลาดยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไปอีกสักระยะ โดยไม่ได้กังวลหรือหวาดกลัวต่อประเด็นเรื่องภาวะเงินเฟ้ออีกต่อไป แต่ให้ความสนใจและอ่อนไหวต่อการรับมือกับปัญหาการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา
เซียนชาน หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของธนาคาร HSBC หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจนทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งหวั่นเกรงว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed อาจต้องหันมาใช้นโยบายการเงินที่คุมเข้มเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาได้สักระยะหนึ่ง ในที่สุดนักลงทุนเหล่านี้ดูจะเริ่มคุ้นเคยกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
หลักฐานก็คือ ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 5.4% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี กลับลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เซียนชานกล่าวว่า มุมมองตลาดที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มีอะไรต้องกลัวนอกจาก ‘ความกลัว’ เอง (nothing to fear but ‘fear’ itself)
เซียนชานอธิบายว่า โดยปกติแล้วความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) กับทิศทางเงินเฟ้อจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือถ้าเงินเฟ้อสูง บอนด์ยีลด์ย่อมมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน สังเกตได้ว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ค่อยๆ ปรับตัวลดลงหลังจากทำสถิติสูงสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเมื่อมองไปยังบรรยากาศการลงทุนในตลาด ต่อให้มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่จะเดินหน้าปรับตัวพุ่งขึ้น กระนั้นนักลงทุนก็ยังเดินหน้าเข้าไปลงทุนในตลาด เห็นได้จากดัชนี S&P 500 ที่ทะยานขึ้นทำสถิติระลอกใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา โดยแม้แต่ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ความวิตกเรื่องเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุด แต่การลงทุนในตลาดกลับอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ดี สะท้อนให้เห็นได้ว่านักลงทุนในตลาดไม่ได้กลัวเรื่องเงินเฟ้ออีกต่อไป และออกจะเริ่มเคยชินต่อสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รูปการณ์ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าบรรดานักลงทุนจะไม่อ่อนไหวต่อการปรับนโยบายด้วยการเดินหน้าลดโครงการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (QE) ของ Fed แต่อย่างใด นอกจากนี้สิ่งที่นักลงทุนให้น้ำหนักความสนใจมากกว่าก็คือสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา
ความเห็นต่อทิศทางตลาดหุ้นในมุมมองของนักวิเคราะห์จากบรรดาธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำต่างแตกต่างกันออกไป โดยขณะที่กลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นว่าตลาดยังสามารถไปต่อได้ดี อีกส่วนหนึ่งกลับมองว่าตลาดจะโตได้เล็กน้อย ไม่หวือหวา เพราะนโยบายกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐและธนาคารกลาง ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มคลายความร้อนแรง
ในส่วนของทิศทางตลาดน้ำมัน นักวิเคราะห์ประเมินว่าปัญหาอุปสงค์อุปทานของน้ำมันกลายเป็นประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายอดวิตกกังวลไม่ได้ว่าจะจุดชนวนให้ตลาดน้ำมันเผชิญกับวิกฤตราคา เพราะตามปกติแล้ว เมื่อตลาดมีความต้องการบริโภคน้ำมันจนราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ทางผู้ผลิตย่อมจะเพิ่มกำลังการผลิตตาม เพื่อรักษาราคาน้ำมันไม่ให้แพงจนเกินไป
ทว่าสถานการณ์ตลาดน้ำมันในปัจจุบันกลับไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะในขณะที่โลกยังต้องการใช้น้ำมันและเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น รัฐบาลหลายประเทศกลับเผชิญกับแรงกดดันให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันลด ละ เลิก การผลิตและพึ่งพาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันจะขยับอยู่ในระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีนี้ และเหนือกว่าระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลตลอดปี 2022 พร้อมเชื่อมั่นว่าความต้องการบริโภคน้ำมันของทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่ จึงยังไม่มีความสามารถมากพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นจากวิกฤต
อ้างอิง: