×

ตลาดหุ้นปั่นป่วนหนัก! Barclays มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกลายเป็น ‘No Landing’ เมื่อเงินเฟ้อยังคงสูง และเศรษฐกิจยังโตต่อ

15.02.2023
  • LOADING...

นับเป็นแรงกดดันครั้งใหม่ของ Fed ที่ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการต่อสู้เงินเฟ้อท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงยืดหยุ่น และกำลังบังคับให้นักลงทุนใน Wall Street ต้องคิดทบทวนแนวทางการซื้อขายหุ้นใหม่

 

หลังจากสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคที่สะท้อนเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าวิตก และทำให้นักลงทุนตราสารหนี้คาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยจะขยับสูงกว่า 5% และคงที่ต่อไป ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยมีการเดิมพันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ แตกต่างจากมุมมองเดิมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเชื่อว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้

 

ภาพรวมในตลาดหุ้นยังคงมัวหมอง นักลงทุนกำลังตัดสินใจจากสองปัจจัยหลัก ระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น กับเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วพอที่จะสร้างงานใหม่กว่าครึ่งล้านตำแหน่งในเดือนที่แล้ว ความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาจากการที่นักลงทุนต้องพิจารณาเงินเฟ้อที่ยังคงสูง แต่เมื่อเทียบกับข้อมูลเศรษฐกิจและผลประกอบการล่าสุดแทบไม่มีสัญญาณของการชะลอตัวอย่างรุนแรง 

 

Emmanuel Cau นักยุทธศาสตร์จาก Barclays คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ ในขณะเดียวกันธนาคารกลางก็มีแนวโน้มที่จะผลักดันนโยบายที่เข้มงวดต่อไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘No Landing’ โดย Barclays ได้เพิ่มการคาดการณ์การเติบโต และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

 

การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักลงในเดือนนี้ แม้ว่าดัชนี S&P 500 จะลดลงน้อยกว่า 2% แต่ก็ยากที่จะบอกว่าตลาดคลี่คลายแล้ว นักวิเคราะห์ต่างแนะนำว่าในตอนนี้นักลงทุนอาจทำกำไรเพิ่มเติมได้ยากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าอาจจะยากที่จะเกิดการเทขายครั้งใหญ่ 

 

ด้าน Morgan Stanley ประมาณการณ์ว่าเส้นทางนโยบายการเงินจะเข้มงวดมากขึ้น จึงเปลี่ยนสถานะเป็นกลางต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากเดิมที่ให้น้ำหนักมากกว่าตลาด (Overweight) และคาดว่านักลงทุนจะปรับลดสถานะชอร์ตดอลลาร์ โดยถอยห่างจากแนวคิดจุดเปลี่ยนนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงควบคู่กับการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐฯ การไต่ขึ้นของผลตอบแทนดัชนี S&P 500 ในช่วงครึ่งหลังของปี 1990 จบลงจากการที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในเวลาต่อมา และในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา ความพยายามในการปรับนโยบายให้เป็นมาตรฐาน ในที่สุดก็ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 แต่รายได้ในบรรดาบริษัทยังเพิ่มสูงขึ้นตลอดการบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

Fed ใช้ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเพื่อเป็นสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องขึ้นสู่ในระดับที่แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงลดลงต่อไป มุมมองดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นแย่ลงเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี และกระตุ้นให้เกิดคำเตือนครั้งใหม่ทั่วทั้ง Wall Street ว่าการฟื้นตัวของตราสารทุนอาจต้องจบลงเพียงเท่านี้

 

ความกังวลต่อ Recession อาจถูกแทนที่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังร้อนแรง?

ถึงกระนั้น แม้ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเริ่มผ่อนคลายลง จากแบบสำรวจผู้จัดการกองทุนล่าสุดของ Bank of America เผยว่า นักลงทุนมีมุมมองลบต่อเศรษฐกิจน้อยลงจากไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเพียง 24% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เทียบกับ 77% ในเดือนพฤศจิกายน และจำนวนนักลงทุนที่คาดว่าอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 

 

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจชี้ว่าความเสี่ยงท้ายสุดยังคงเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจนกินเวลานาน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย ซึ่งหมายความว่า Fed จะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง

 

ทีมงานเศรษฐกิจมหภาคของ Barclays ระบุในรายงานว่า การกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของจีน ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปที่ลดลง และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งในสหรัฐฯ ได้ลดโอกาสของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะเวลาอันใกล้นี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับคงที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามอาจเป็นการปูทางสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจาก Fed 


บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X