×

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โอกาสที่ควรคว้า หรือล่าถอย

08.07.2025
  • LOADING...
นักลงทุนวิเคราะห์ ตลาดหุ้นสหรัฐ

ช่วงนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดขึ้นกันคึกคักรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย หลังจากที่ตกอยู่ในบรรยากาศขมุกขมัวมาตลอดช่วงเวลา 6 เดือนแรกที่ผ่านมา แต่ละวันมีแต่เรื่องที่ทำให้นักลงทุนอย่างพวกเราๆ ได้ตื่นเต้นไม่มีพักเบรกทั้งเหนื่อยทั้งเป็นท้อกันไปทีเดียว

 

คุณคงสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ทำให้เรียกความเชื่อมั่นกลับมาสู่ตลาดได้ในวันนี้ ท่ามกลางข่าวสงครามทั่วโลกทั้งอิสราเอล-อิหร่าน รัสเซีย-ยูเครน จีน-ไต้หวัน ผุดขึ้นทุกวัน แต่ทำไมหุ้นยัง ‘เขียว’ ตลาดยัง ‘บวก’

 

ผมมองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดขึ้นรับข่าวดี สะท้อนความเชื่อมั่นว่าสงครามใกล้จบ หากราคาน้ำมันไม่ขึ้น เงินเฟ้อไม่พุ่ง มีโอกาสได้เห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจลดดอกเบี้ยได้ในเดือน ก.ย. 2568 นี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า รอบการประชุมเดือน ก.ค. Fed จะคงดอกเบี้ยที่ 4.25-4.50% ซึ่งสอดรับกับการส่งสัญญาณของ ‘เจอโรม พาวเวลล์’ ประธาน Fed ที่กล่าวในงาน Central Bank Conference ว่า Fed ยังไม่รีบลดดอกเบี้ยและขอ ‘wait and learn’ หรือรอดูสถานการณ์หลังเริ่มแผนการจัดเก็บภาษีที่จะครบกำหนดการเลื่อนวันที่ 9 ก.ค. นี้ก่อน เนื่องจากขนาดของการเก็บภาษีฯ ดังกล่าว อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า แม้เศรษฐกิจยังแข็งแรง แต่ยังต้องระวังเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

ประธาน Fed ยอมรับว่า Fed คงจะผ่อนคลายนโยบายการเงินไปแล้ว หากไม่ใช่เพราะแผนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยการตัดสินใจของ Fed จะเน้นที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจไม่ใช่การเมือง ท่ามกลางกระแสแรงกดดันจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่เรียกร้องให้ Fed ลดดอกเบี้ยหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปลดดอกเบี้ยถึง 10 ครั้งแล้ว และการกดดันเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ Fed ก่อนครบวาระในปี 2569 

 

ล่าสุด Fed Watch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือน ต.ค. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 2568 

 

นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนคลี่คลายลงหลังการเจรจาเฟสสองผ่านไป

 

มุมมองของ Khoon Goh หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของ ANZ กล่าวว่า “การรวมกันของพัฒนาการเชิงบวกต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่คึกคักในตลาดที่เรากำลังเห็นอยู่”

 

บรรยากาศในตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเป็นบวกมากขึ้น หลังนักลงทุนผ่อนคลายความวิตกกังวลทั้งสงครามและเศรษฐกิจ โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ วิ่งทะลุจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ดีดตัวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องปิดสิ้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในครึ่งแรกของปีนี้ ตลาด S&P ทำ All-Time High หลายครั้งในครึ่งแรกของปี 2568 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. S&P 500 ทำ Golden Cross ครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกทางเทคนิค บ่งชี้แนวโน้มขาขึ้นยังแข็งแรง 

 

ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จำนวนมากขึ้น คาดการณ์ผลประกอบการประจำไตรมาส 2 นี้ในเชิงบวกมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

 

ทั้งนี้ บริษัทมากกว่า 110 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้ออกรายงานคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) สำหรับไตรมาส 2/68 ซึ่งในจำนวนดังกล่าว บริษัท 51 แห่งคาดการณ์ในเชิงบวกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งอยู่ที่จำนวน 42 แห่ง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่จำนวน 39 แห่ง ส่วนอีก 59 บริษัทคาดการณ์ในเชิงลบ

 

นอกจากตลาดสหรัฐฯ แม้แต่ตลาดหุ้นอิสราเอลและอิหร่านก็ยังปรับตัวขึ้นทำนิวไฮในช่วงที่มีสงคราม เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียพุ่งทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยตลาดหุ้นนิกเกอิของญี่ปุ่น ปรับตัวบวกสูงสุดในรอบ 5 เดือน ดัชนี CSI ของจีน กลับมาคึกคักอีกครั้ง รับข่าวดีสงครามเริ่มสงบ การเจรจาภาษีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ปิดดีลได้ข้อตกลงร่วมกัน ช่วยทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดคลี่คลายลงจากเดิมที่ทั่วโลกวิตกกังวลว่าจะเกิดการแบ่งขั้ว 2 ฝั่งเอเชียและตะวันตก และความคาดหวังว่า Fed จะลดดอกเบี้ย

 

ผมฉายภาพโดยรวมให้เห็นแล้วว่าทำไม ‘ข่าวร้าย’ ไม่ได้ทำให้ตลาดพังเสมอไป ตลาดหุ้นโลกเคลื่อนไหวยังไงในช่วงสงครามโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทำนิวไฮไม่พัก 

 

โลกกลับมาตั้งคำถามถึงหุ้นสหรัฐฯ ใกล้ภาวะฟองสบู่แตกหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์ Bank Of America ออกโรงเตือน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังเป็น ‘ฟองสบู่’ จากการเก็งกำไรที่มากขึ้นว่า Fed จะลดดอกเบี้ย และสหรัฐฯ จะกลับลำลดภาษี

 

ด้านตลาดบอนด์เคลื่อนไหวสอดรับการคาดการณ์ลดดอกเบี้ยของ Fed โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 30 ปี ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในรอบ 3 ปี โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 10% หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะถือเป็นการลดลงในช่วงครึ่งปีแรกที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นยุคสกุลเงินลอยตัวเสรีในช่วงต้นทศวรรษ 1970

 

สถานการณ์โลกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเสี่ยงจากฝั่งสหรัฐฯ ที่อาจจะระเบิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบัน Valuation สูงมากเกินไป ขณะที่ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสแรก หดตัว 0.5% ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจรายเดือนอาจเปลี่ยนโทนตลาดได้ทุกเมื่อ การดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจกับแรงกดดันทางการเมือง เดดไลน์สำคัญที่กำลังจะเกิดความชัดเจนขึ้นในวันที่ 9 ก.ค. 2568 สำหรับการครบกำหนดการเลื่อน 90 วันของแผนเก็บภาษีสหรัฐฯ ซึ่งยังมีอีกหลายประเทศที่อาจไม่สามารถเจรจาปิดดีลได้ทัน ขณะที่คุณทรัมป์ประกาศว่าจะไม่มีการเลื่อนอีกแล้ว 

 

อีกประเด็นที่สำคัญในประเทศสหรัฐฯ การผ่านร่างกฎหมายภาษีและการใช้จ่ายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ฉบับที่กำลังพิจารณาในวุฒิสภา หรือที่รู้จักในชื่อ ‘One Big Beautiful Bill’ ที่อาจจะเพิ่มภาระการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ สูงถึงเกือบ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ และผลกระทบจากภาษีศุลกากร จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

 

หลังจากที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2568 เติบโตเพียง 2.8% จากเดิมคาดโต 3.3% โดยชี้ว่าต้นเหตุหลักคือ นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้เมื่อ 2 เม.ย. ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก 

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะชะลอตัวลง แต่ยังเป็นความท้าทายในการคุมเศรษฐกิจ

 

IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยสหรัฐฯ GDP เหลือโตแค่ 1.8% และยูโรโซน 0.8% สำหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ยังเติบโตได้ดีกว่า โดย จีน คาดว่าจะโต 4.0% ด้านประเทศไทย ถูกปรับลดแรงที่สุดในกลุ่มอาเซียน-5 โดย IMF คาดว่า GDP ไทยปีนี้โตแค่ 1.8% และปีหน้า โตลดลงอีกเหลือ 1.6% ต่ำสุดในกลุ่ม ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ยังเติบโตสูงกว่าแม้ต้องเจอกับแรงกดดันจากภาษีสหรัฐฯ เช่นกัน

 

แนวโน้มในระยะข้างหน้า ผมยังมองว่าโดยภาพรวมบรรยากาศของนักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของการค้าโลกและผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ กำไรบริษัท และตลาดหุ้น 

 

ผมเคยพูดเสมอว่า ‘สงครามการค้า’ เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่าสงครามสู้รบ เพราะประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ กำลังจัดระเบียบโลกใหม่ หรือ New World Order ซึ่งจะส่งผลกระทบวงกว้างต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งการ Reset โลกการค้าสู่บริบทใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมที่เคยใช้กันมา 80 ปี ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับตัวซึ่งต้องรอดูหลังวันที่ 8 ก.ค.นี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงมีคำถามลอยขึ้นมาเต็มไปหมดใช่มั้ยครับ นักลงทุนควรกลัวหรือกล้าดีล่ะ? ถามว่า เศรษฐกิจแย่จริงไหม? ต้องทำอย่างไรให้ ‘รอด’! นักลงทุนควร ‘หนี’ หรือ ‘ถือ’ หรือ ‘ซื้อเพิ่ม’?

 

สิ่งที่จะต้องรับมือกับสิ่งที่ไม่นิ่ง Howard Marks ผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management พูดไว้ว่า “You can’t predict, but you can prepare” คุณไม่สามารถทำนายตลาดหุ้นได้ แต่คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมได้

 

ผมแนะนำทางรอดในการปรับพอร์ตในสภาวะที่โลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ด้วยการจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ช่วยกระจายความเสี่ยง ตอบโจทย์สำหรับการลงทุนระยะยาว

 

คนที่อ่านบทความผมมาก่อนน่าจะพอรู้จักกันอยู่แล้วว่า Core Port คือพอร์ตหลักเน้นลงทุนกระจายในสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำและสามารถสร้างผลตอบแทนเข้ามาเรื่อยๆ แม้จะไม่สูงก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนหุ้นทั่วโลก และพันธบัตรสหรัฐฯ ส่วนพอร์ตรอง หรือ Satellite จะเป็นตัวคว้าโอกาสทำกำไรสูง ด้วยการเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงรับผลตอบแทนสูงๆ ซึ่งผมยังแนะนำ ‘หุ้นจีน-ฮ่องกง’ ที่กำลังฟื้นตัวดี หรือหากต้องการจะลงทุนทองคำ ก็สามารถลงทุนในช่วงที่ราคาทองตกลงมาได้ 

 

สำหรับหุ้นจีนและฮ่องกง หากใครลงทุนตามที่แนะนำไปตั้งแต่ต้นปี ผลตอบแทนบวกเฉลี่ย 4-5% แม้ผ่านความผันผวนหนักก็ยังยืนได้ ส่วน ETF จีนและฮ่องกง ยังน่าจับตามองเพราะมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทน 10-15% ต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ GDP ยังเติบโตสูงระดับ 4-5% ขณะที่หุ้นจีนเพิ่งปรับตัวขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วหลังจากที่ปรับตัวลงหนักติดต่อกัน 3 ปีก่อนหน้า 

 

ปัจจุบันตลาดหุ้นจีนยังเคลื่อนไหวผันผวนอยู่ในโซนล่าง เวลาตลาดหุ้นจีนมีข่าวดีเล็กน้อยก็จะเด้งแรง แต่ก็ยังทิ้งห่างจากจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ครับ และนับตั้งแต่หุ้นจีนอยู่จุดต่ำสุดปลายเดือนก.ย. 2567 และรัฐบาลประกาศอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10 ล้านล้านหยวน ก่อนวันชาติจีน (1 ต.ค. 2567) แต่มาจนถึงวันนี้ ตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่ง ยังไม่ได้ทำจุดต่ำสุดใหม่เลย แม้วันที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีตอบโต้กับจีน กระทบหุ้นจีนให้ปรับลดลงมาบ้าง แต่ก็สามารถเด้งกลับขึ้นมาในเวลาต่อมา ถือว่าตลาดยังทรงๆ ตัวอยู่ระดับปลายปีที่แล้วหรือต้นปีนี้ นักลงทุนที่ถือหุ้นจีนแทบจะไม่ได้รู้สึกขาดทุนอะไรมาก ดังนั้น หากจะลงทุนหุ้นจีนในตอนนี้ยังสามารถเข้าได้ครับ

 

อีกสินทรัพย์ที่แนะนำ ‘ทองคำ’ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามสหรัฐฯ เกิดวิกฤต แต่ปัจจุบันราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาสูงมากเช่นกัน จึงแนะนำว่าไม่ควรถือเยอะเพราะอยู่ในโซนที่มีโอกาสกลับทิศลง หากใครที่ต้องการลงทุนให้รอจังหวะตลาดทองลดลงมาแรงๆ ดีกว่า 

 

สำหรับการจัดน้ำหนักลงทุนของ Core & Satellite สัดส่วนอยู่ที่ 80% และ 20% เป็นระดับที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะพอร์ตรองเป็นพอร์ตเสี่ยงสูง หากเกิดกรณีเลวร้ายสุดความเสียหายจะจำกัดอยู่ระดับนี้ ขณะที่เรายังมีพอร์ตหลักเป็นแกนหลักอยู่ 80% ที่จะสร้างผลตอบแทนเข้ามาต่อเนื่อง ก็จะทำให้พอร์ตของคุณค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเต็มร้อยได้ในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดพอร์ต Core & Satellite แล้ว สิ่งที่ต้องทำด้วย คือ Rebalance เป็นการปรับสินทรัพย์ลงทุนให้สอดรับกับน้ำหนักที่วางไว้ หากสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมีมูลค่าปรับเพิ่มขึ้นสูงจนทำให้เกินสัดส่วนของพอร์ตแล้ว อาจจะต้องขายทำกำไรและนำเงินมาลงทุนในอีกสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงหรือหากยังไม่มีสินทรัพย์ที่น่าลงทุน สามารถนำเงินพักไว้ในตลาดเงินก่อน

 

กฎสำคัญของการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ‘Peter Lynch’ นักลงทุนตำนานโลก ได้กล่าวไว้ว่า ‘เวลาที่ดีที่สุดในการซื้อหุ้น คือเวลาที่เราหาเหตุผลที่ดีที่สุดได้ เวลาที่ขายหุ้นคือ เวลาที่เหตุผลนั้นหมดไปแล้ว’ 

 

ผมขอยกตัวอย่างการ Rebalance ในส่วนของหุ้นสหรัฐฯ แม้ยังเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ด้วยพลัง AI และหุ้นเทคโนโลยีที่เติบโตต่อเนื่อง แต่เนื่องจากปัจจุบัน ตลาดใกล้ All Time High จึงต้องระมัดระวังครับ แม้แต่นักวิเคราะห์ยังเสียงแตกประเด็นหุ้นสหรัฐฯ จะเกิดฟองสบู่แตกหรือไม่ ท่ามกลางความคลุมเครือสงครามการค้าจะเป็นอย่างไรในช่วงครึ่งปีหลัง

 

อย่าลืมว่าหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมา 50% ในช่วง 2 ปีติดๆ กัน (2023-2024) และหุ้นหลายๆ ตัวโดยเฉพาะหุ้น 7 นางฟ้ายังทำนิวไฮอยู่ ซึ่ง ค่า P/E ของหุ้นพุ่งกระฉูดหลุดโลก ถามว่า ‘แพงไปไหมคงตอบไม่ได้’ แต่บอกได้ว่าเป็นราคาที่สะท้อนความคาดหวังมากไปแล้ว ซึ่งคนที่ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ในต้นปี คิดว่าอาจมีบางคนพอร์ตร่วงลง 20% ในเวลาที่เราลงทุนในตลาดที่มีความคาดหวังสูงมีอารมณ์ดีเยอะๆ จุดนั้นคือจุดอันตราย 

 

ในเวลาพูดถึงความผันผวนจะมี 2 ช่วงคือ ผันผวนตอนหุ้นต่ำๆ เช่นหุ้นจีน และผันผวนตอนหุ้นขึ้นไปสูงๆ เช่นหุ้นสหรัฐฯ 

 

เพราะฉะนั้นเวลาที่หุ้นสหรัฐฯ เจอข่าวร้ายๆ ก็ร่วงแรงและเด้งเร็ว แบบนี้ถือว่าอันตราย เพราะฉะนั้น ถ้าลดน้ำหนัก ‘หุ้นสหรัฐฯ’ ได้ก็ลดครับ หรือหากลงทุนก็ต้องระมัดระวัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมาล้างพอร์ตหุ้นสหรัฐฯ 100% เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจจะไปต่อก็ได้ ผมแนะให้ลงทุนแบบเชิงรับมากกว่า เพราะหุ้นสหรัฐฯ ดีๆ หลายตัวที่ราคาร่วงลงมาจากปี 2565 และยังไม่ได้กลับขึ้นมามีอีกมาก และยังอยู่ในจุดที่พอจะลงทุนได้ โดยเลือกหุ้นที่ธุรกิจมีโอกาสจะเติบโตไปได้ 3-5 ปี ไม่ว่าสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร หากคุณต้องการดูข้อมูลหุ้นรายตัวที่น่าลงทุนในตลาดประเทศต่างๆ ผมแนะนำ Jitta.com จะมีหุ้นรายตัวที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกด้วย AI คัดกรองคุณภาพให้แล้ว

 

การ Rebalance พอร์ตลงทุน เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนบริหารจัดการเงินลงทุน มองหาทรัพย์สินที่น่าจะเติบโตสูงสุด ด้วยความเสี่ยงต่ำสุดเสมอ จะทำให้พอร์ตของคุณรอดได้ในสถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง 

 

โดยทฤษฎีการลงทุน จะบอกว่าพอร์ตที่มีกำไร 95% จริงๆ ไม่ได้มาจากการเลือกหุ้น แต่มาจากการบริหารพอร์ต (Portfolio Management) มากกว่า คือ เลือกทรัพย์สินได้ถูก เลือกประเทศถูก เลือกหุ้นถูก ลงทุนในช่วงเวลาที่ดี จะมีผลมากและจะมีผลมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวครับ

 

อีกสิ่งที่สำคัญเป็นหัวใจของการลงทุนที่ดี ไม่ใช่แค่ไว แต่ต้อง ‘นิ่ง’ เพราะตอนนี้เราไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นสงครามสู้รบ สงครามการค้า จริงๆ ต้องถือว่ายังไม่ได้คลี่คลาย 100% การปรับนโยบายการเงินของFed ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลก ตลาดจะตื่นตระหนกหรือเกิดความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำคือการ ‘นิ่ง’ และตั้งสติวิเคราะห์สถานการณ์ ทบทวนการลงทุนของตัวเองให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหรือขาย ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเสมอ

 

คุณปู่ Warren Buffett แนะนำไว้ว่า ‘ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะร่วงเป็นเพียงช่วงสั้นๆ และเล็กน้อย หรือยาวนานและเจ็บปวด คำแนะนำที่ให้กับนักลงทุนก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ยึดมั่นในแผนระยะยาวของคุณและลงทุนต่อไป’

 

หากคุณวางแผนลงทุนระยะยาว ก็ทำให้เหมือนกับปู่ Buffett ที่ไม่ได้ซื้อขายถี่ๆ แต่เลือกดีลที่มั่นใจจริงๆ แล้วถือยาวเป็นสิบๆ ปี นั่นแหละคือพลังของการลงทุนแบบระยะยาวที่แท้จริง

 

ถ้าคุณเข้าใจความหมายของคำว่า ‘กลัวตอนคนโลภ โลภตอนคนกลัว’ หรือพูดง่ายๆ ‘อย่าแห่ตามฝูงชน’ ได้จริงๆ คุณก็จะสามารถเปลี่ยนจาก ‘นักเล่นหุ้น’ ไปเป็น ‘นักลงทุนตัวจริง’ ที่ประสบความสำเร็จได้เหมือนกันครับ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising