×

ดัชนี S&P 500 ทะยานแตะ 3,000 จุดครั้งแรก หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ

11.07.2019
  • LOADING...
stock market

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) ดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทะยานขึ้นแตะระดับ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นหลักไมล์สำคัญของวอลล์สตรีท หลัง เจอโรม เพาเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แย้มว่า Fed อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในปลายเดือนนี้

 

ถึงแม้ดัชนี S&P 500 จะปรับตัวลงในช่วงท้ายก่อนปิดที่ระดับ 2,993.07 จุด แต่ก็ยังเป็นการปิดในแดนบวก โดยเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 13.44 จุด หรือ 0.45%

 

เมื่อวานนี้ เจอโรม เพาเวลล์ ได้แถลงทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า Fed จะดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังมีความกังวลว่า เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงจากปัจจัยลบที่กำลังถาโถมเข้ามา ทั้งความตึงเครียดทางการค้า การลงทุนภาคธุรกิจที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของ Fed

 

ถ้อยแถลงของเพาเวลล์ทำให้ตลาดคาดหวังว่า Fed อาจปรับลดดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งปีนี้ โดยโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมมีเพิ่มขึ้นเป็น 26% จาก 5%, ส่วนเดือนกันยายนมีโอกาสเพิ่มขึ้นจาก 63% เป็น 70% ขณะที่เดือนตุลาคมมีโอกาสเพิ่มจาก 77% เป็น 82% และเดือนธันวาคม โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยมีเพิ่มขึ้นเป็น 89% จาก 86%

 

นอกจาก S&P 500 แล้ว ดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นอีกหนึ่งดัชนีสำคัญของสหรัฐฯ ก็ปิดทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 8,202.53 จุด โดยเพิ่มขึ้น 60.80 จุด หรือ 0.75% ขณะที่ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรม Dow Jones ปิดที่ 26,860.20 จุด เพิ่มขึ้น 76.71 จุด หรือ 0.29% 

 

สัญญาณบวกจากประธาน Fed ยังช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นด้วย เพราะการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลดีต่อดีมานด์น้ำมัน โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) และเบรนท์พุ่งขึ้นกว่า 4.5% เมื่อคืนนี้ 

 

นอกจากกระแสคาดการณ์เฟดลดดอกเบี้ยแล้ว ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากข้อมูลสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลงมากกว่าคาด หลัง EIA ประกาศตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังลดลง 9.5 ล้านบาร์เรล จากที่คาดการณ์ไว้ว่า จะลดลงเพียง 3.081 ล้านบาร์เรล ขณะที่ข่าวการผลิตน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งคิดเป็น 17% ของการผลิตน้ำมันทั้งหมดของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากพายุ ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising