แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ขณะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (18 มิถุนายน) นับเป็นผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนจีนคนแรกในรอบกว่าครึ่งทศวรรษ ต่อจาก ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยเยือนจีนเมื่อปี 2018
บลิงเคนได้เข้าพบ ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันภายในที่ประชุมที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เพื่อพยายามหาทางปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังสหรัฐฯ และจีนมักเกิดความตึงเครียดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
หลังจากที่ประชุมหารือกันนานกว่า 5 ชั่วโมง ฉินกังได้ตอบรับคำเชิญของบลิงเคนที่จะเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้ โดยรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศตัดสินใจที่จะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงจะประสานความร่วมมือกันในมิติต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้ร่วมหารือกันคือกรณีไต้หวัน โดยสื่อทางการจีนรายงานว่า ฉินกังได้เน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่อาจจะกระทบความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน เนื่องจากไต้หวันเป็นหนึ่งในผลประโยชน์หลักของจีน โดยไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามแนวคิดนโยบายจีนเดียว
นอกจากนี้หลายฝ่ายคาดว่า หัวข้อที่ผู้แทนระดับสูงของทั้งสหรัฐฯ-จีน อาจร่วมหารือกันคือ ประเด็นเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาททางการค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง การแพร่ระบาดของยาบรรเทาอาการปวด ‘เฟนทานิล’ ในสหรัฐฯ ซึ่งอาจรวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในจีนและการคุมขังชาวอเมริกันที่มิชอบในจีน
บลิงเคนระบุว่า “หากเราต้องการแน่ใจว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะไม่เปลี่ยนเป็นความขัดแย้ง คุณอาจต้องเริ่มต้นด้วยการสื่อสารกัน”
เบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าบลิงเคนจะได้เข้าพบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงหรือไม่ โดยเขาหวังว่าเขาจะได้เข้าพบกับผู้นำจีนในอนาคตอันใกล้นี้ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าการยังคงรักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างกันนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงของการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดกัน รวมถึงมีส่วนช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย
ภาพ: Leah Millis / Pool / AFP
อ้างอิง: