สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้เซอร์เบียถอนกำลังทหารขนาดใหญ่บริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศคอซอวอ หลังจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวเซิร์บในคอซอวอและกลุ่มชาติพันธุ์แอลเบเนียน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันที่โบสถ์คริสต์ออร์โธดอกซ์แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของคอซอวอ เมื่อวันอาทิตย์ที่ (24 กันยายน) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 4 คน
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันศุกร์ (29 กันยายน) ว่า การวางกำลังทหารขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยรถถังและปืนใหญ่ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่บั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างมาก
“สถานการณ์น่าเป็นห่วง มันไม่ได้ดูเหมือนแค่คนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อทำสิ่งนี้” เคอร์บีกล่าว “เรากำลังเรียกร้องให้เซอร์เบียถอนกองกำลังเหล่านั้นออกจากชายแดน”
เคอร์บีกล่าวว่า การเสริมกำลังทหารเกิดขึ้นภายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่จุดประสงค์ยังไม่ชัดเจน พร้อมกับเผยด้วยว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โทรศัพท์หาประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช ของเซอร์เบีย เพื่อเรียกร้องให้เซอร์เบียลดระดับความรุนแรงโดยทันที และกลับสู่การเจรจา ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ พูดคุยกับ อัลบิน เคอร์ติ นายกรัฐมนตรีคอซอวอ
ด้านประธานาธิบดีวูซิชไม่ได้ปฏิเสธชัดเจนว่า เซอร์เบียเสริมกำลังทหารเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ แต่ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่า กองกำลังของเซอร์เบียอยู่ในภาวะเตรียมพร้อม
“ผมปฏิเสธความเท็จที่ว่ากองกำลังของเราพร้อมรบในระดับสูงสุด เพราะผมไม่ได้ลงนามคำสั่ง และมันไม่ถูกต้อง” ผู้นำเซอร์เบียกล่าว “เรามีทหารไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเมื่อสองหรือสามเดือนที่แล้วด้วยซ้ำไป”
ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศปะทุขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว หลังจากตำรวจคอซอวอนายหนึ่ง และมือปืนเชื้อสายเซอร์เบีย 3 คน เสียชีวิตระหว่างการปิดล้อมโบสถ์ออร์โธดอกซ์ในหมู่บ้านบันจ์สกา ทางเหนือของคอซอวอในวันอาทิตย์ รัฐบาลคอซอวอกล่าวหาว่า รัฐบาลเซอร์เบียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
วานนี้ มิลาน ราโดอิซิก รองประธานพรรค (Serb List) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหลักกลุ่มชาวเซิร์บในคอซอวอ ประกาศลาออกหลังจากยอมรับว่ามีการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธจริง อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากเซอร์เบีย
การปะทะนองเลือดดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์รุนแรงที่สุดของคอซอวอในรอบหลายปี และเกิดขึ้นหลังจากที่สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน
ทั้งนี้ หลังการล่มสลายของยูโกสลาเวียในทศวรรษ 1990 คอซอวอซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของยูโกสลาเวีย พยายามขอแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งเซอร์เบียตอบโต้ด้วยการปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์แอลเบเนียนอย่างโหดเหี้ยม การสู้รบสิ้นสุดลงในปี 1999 ด้วยการที่ NATO ทิ้งระเบิดถล่มเซอร์เบียในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน จนกระทั่งเซอร์เบียยอมถอนกองกำลังออกจากคอซอวอ
อย่างไรก็ดี สำหรับชาวคอซอวอเชื้อสายแอลเบเนียนและชาวเซิร์บจำนวนมากนั้น ความขัดแย้งไม่เคยได้รับการแก้ไข
คอซอวอประกาศเอกราชในปี 2008 แต่เซอร์เบียรวมทั้งจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นสองชาติพันธมิตรสำคัญของเซอร์เบีย ไม่ยอมรับเอกราชของคอซอวอ
ชาวเซิร์บจำนวนมากถือว่าคอซอวอเป็นถิ่นกำเนิดของประเทศ ทั้งที่จากจำนวนประชากร 1.8 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในคอซอวอนั้น ส่วนใหญ่ถึง 92% เป็นเชื้อสายแอลเบเนียน และมีเพียง 6% ที่เป็นชาวเซิร์บ
ด้าน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาอนุมัติกองกำลังเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยนับเป็นครั้งที่สองในรอบสามเดือนที่ NATO เสริมกำลังในคอซอวอ จากปัจจุบันที่มี Kosovo Force (KFor) ซึ่งนำโดย NATO ประจำการอยู่แล้วประมาณ 4,500 นาย
ขณะที่กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า ส่งทหาร 500-650 นายเข้าประจำการร่วมกับกองกำลัง KFor ของนาโต
ภาพ: Celal Gunes / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: