×

สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ ห้ามชาวต่างชาติตั้งครรภ์เดินทางไปคลอดบนแผ่นดินสหรัฐฯ

โดย THE STANDARD TEAM
24.01.2020
  • LOADING...

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อคลอดบุตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (24 มกราคม) ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะปฏิเสธการออกวีซ่าเยี่ยมเยือนชั่วคราว หรือวีซ่าท่องเที่ยว B-1/B-2 สำหรับหญิงต่างชาติตั้งครรภ์ที่ตั้งใจเดินทางเข้าสหรัฐฯ หากพบว่ามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้บุตรได้สัญชาติอเมริกันจากการคลอดบนแผ่นดินสหรัฐฯ

 

แต่กฎระเบียบใหม่ดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นใน 39 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรปที่เข้าร่วมโปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่า

 

สำนักข่าว CNN รายงานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ด้านการทูตของสหรัฐฯ ซึ่งพบความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติว่าจะบังคับใช้กฎระเบียบใหม่นี้อย่างไร เนื่องจากเจ้าหน้าที่กงสุลในสถานทูตที่รับผิดชอบการขอวีซ่าได้รับคำสั่งไม่ให้สอบถามผู้ขอวีซ่าที่เป็นหญิงว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ยกเว้นว่ามีเหตุผลที่เชื่อได้ว่ากำลังตั้งครรภ์และมีแผนที่จะเดินทางไปให้กำเนิดบุตรในสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงผลลัพธ์จากกฎระเบียบใหม่นี้ เนื่องจากปกติแล้ววีซ่าท่องเที่ยวประเภท B-1/B-2 จะมีอายุถึง 10 ปี หมายความว่าหญิงสาวที่ตั้งครรภ์และได้รับวีซ่าก่อนหน้านี้สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อให้กำเนิดบุตรได้อย่างถูกต้อง

 

ทางด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้แจงต่อสื่อว่าหากผู้ขอวีซ่าที่เป็นหญิงระบุจุดประสงค์ในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อรับการรักษาทางการแพทย์ ทางเจ้าหน้าที่กงสุลสามารถสอบถามเหตุผลที่เจาะจงและชัดเจนมากขึ้นจากผู้ขอวีซ่า ซึ่งรวมถึงการตั้งครรภ์ แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขอผลตรวจสอบการตั้งครรภ์จากผู้ขอวีซ่า

 

ขณะที่ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ชี้แจงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าวว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชนและความมั่นคงของชาติ รวมถึงปรับปรุงระบบตรวจคนเข้าเมืองให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

 

“การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบนี้จำเป็นต่อการเพิ่มความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงของชาติ รวมถึงความสมบูรณ์ของระบบตรวจคนเข้าเมืองของเรา” ทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X