ทางการสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการจำกัดวีซ่าเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่ต้องสงสัยพัวพัน กรณีบังคับเด็กทิเบตกว่า 1 ล้านคนหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจีน ผ่านระบบการศึกษาในโรงเรียนรัฐหลายแห่งที่จีนจัดตั้งขึ้นในทิเบต
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทางการจีนยุติการใช้นโยบายบีบบังคับต่างๆ กับภูมิภาคหรือดินแดนที่ห่างไกล ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมกระแสหลักในจีน โดยทางการสหรัฐฯ ไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่เหล่านี้แต่อย่างใด
บลิงเคนระบุว่า “นโยบายบีบบังคับเหล่านี้ พยายามที่จะกำจัดประเพณีทางด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนาอันโดดเด่นและมีอัตลักษณ์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของชาวทิเบต
เราเรียกร้องให้ทางการจีนยุติการบีบบังคับเด็กชาวทิเบตให้ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประจำของรัฐบาล และยุตินโยบายหลอมรวมแบบกดขี่ ทั้งในทิเบตและทั่วทั้งดินแดนส่วนอื่นๆ ของจีน”
ทางด้านกลุ่มผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (UN) เคยแสดงความกังวลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ระบบโรงเรียนประจำดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นโครงการบังคับขนาดใหญ่ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อหลอมรวมชาวทิเบตเข้ากับวัฒนธรรมฮั่น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของชาวจีนส่วนใหญ่
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังระบุอีกว่า ระบบโรงเรียนประจำนี้กำลังขยายตัวอย่างมาก ในขณะที่โรงเรียนดั้งเดิมในแถบชนบททยอยปิดตัวลง ตอนนี้มีเด็กประมาณ 1 ล้านคนถูกแยกออกจากครอบครัวของพวกเขา เพื่อเข้าเรียนในระบบดังกล่าว ซึ่งบังคับให้พวกเขาต้องเรียนหลักสูตร ‘การศึกษาภาคบังคับ’ ในภาษาจีนกลาง โดยไม่มีการศึกษาในเรื่องของภาษาทิเบต ประวัติศาสตร์ทิเบต และวัฒนธรรมทิเบตแต่อย่างใด
ผลที่ตามมาก็คือ เด็กชาวทิเบตสูญเสียความสามารถในการใช้ภาษาแม่ของตนเอง รวมถึงความสามารถในการสื่อสารกับพ่อแม่และปู่ย่าตายายของพวกเขาในภาษาทิเบต ส่งผลให้พวกเขาถูกหลอมรวมและกัดกร่อนอัตลักษณ์ของความเป็นชาวทิเบต
ทางการจีนชี้ว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ เป็นการหมิ่นประมาทที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอย่างร้ายแรง โดย หลิวเผิงหยู โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้แจงว่า โรงเรียนต่างๆ ที่ทางการจีนจัดตั้งขึ้นในทิเบต ล้วนเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น พร้อมเน้นย้ำว่า โรงเรียนประจำที่มีการบริหารงานแบบรวมศูนย์ มีส่วนช่วยแก้ปัญหาความยากลำบากของเด็กๆ ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจีนได้เข้าควบคุมพื้นที่ของทิเบตในปี 1950 ก่อนที่จะมีความพยายามลุกฮือต่อต้านอำนาจของจีนเรื่อยมาตลอดทศวรรษ ความล้มเหลวในการต่อต้านอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1959 ทำให้องค์ดาไลลามะ ผู้นำสูงสุดทางด้านจิตวิญญาณของทิเบต ต้องลี้ภัยไปยังอินเดียจวบจนถึงปัจจุบัน
แฟ้มภาพ: Hector Retamal / AFP
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2023/8/23/us-imposes-new-china-visa-curbs-over-alleged-forced-assimilation-in-tibet
- https://www.dw.com/en/us-slaps-china-visa-curbs-for-forced-assimilation-in-tibet/a-66604832
- https://www.theguardian.com/world/2023/aug/23/china-forced-assimilation-tibet-us-sanctions-visa