เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศศักดาต่อทุกคนบนโลกโดย ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ 37% ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่โดนนั้นมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง
ประกาศดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ นักธุรกิจ และนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บนั้น เรียกได้ว่า แย่กว่าในกรณีเลวร้ายที่สุดเลยก็ว่าได้…จนหลายฝ่ายขนานนามวันดังกล่าวว่า ‘Liberation Day’ หรือ ‘วันปลดแอกอเมริกา’
โชคยังดีที่การประกาศดังกล่าวมีอายุที่สั้นมาก เนื่องจากในวันที่ 9 เมษายน 2025 ทรัมป์ได้ประกาศระงับมาตรการภาษีดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน กับ 150 ประเทศทั่วโลก (รวมไทย) แต่ยังคงระดับภาษีขั้นพื้นฐานไว้ที่ 10%
ตัวผมและหัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ CGS International จึงไม่รอช้าปรับประมาณการณ์กันยกใหญ่
ประการแรก เศรษฐกิจไทยกระทบแน่ๆ แล้ว 1% เราปรับลดประมาณการ GDP ไทยในปี 2025 เป็น 1.5%YoY (vs. จากของเดิม 2.5%) สะท้อนทั้ง
- ประเด็นแผ่นดินไหวซึ่งเราคาดว่าความเสียหายจะอยู่ราว 2-3 หมื่นล้านบาท หรือ ราว -0.2% ต่อ GDP
- ผลกระทบต่อทั้งการส่งออกและนำเข้าของประเทศไทยที่จะปรับตัวลดลงทั้งทางตรง (ส่งออกไปสหรัฐฯ) และทางอ้อม (ส่งออกไปจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ) หรือราว -0.5% ต่อ GDP
- ภาคการผลิตหรือโรงงานในไทยที่รับจ้างผลิตเพื่อส่งออกที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ และ ส่งผลมาถึงผู้ที่มีรายได้น้อยในภาคการผลิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือราว -0.3% ต่อ GDP
ประการที่สอง ค่อนข้างชัวร์ว่า เงินเฟ้อไทยต่ำ 1% เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้จะเติบโตในระดับ 0.5%YoY จากทั้งนโยบายค่าไฟฟ้าที่ 3.99 บาท/หน่วย และ การไหลทะลักของสินค้านำเข้าราคาถูกจากประเทศจีน ซึ่งแนวโน้มน่าจะหนักขึ้นไปอีกจากสงครามการค้า 2.0 ซึ่งจีนโดนภาษีไปแล้วกว่า 100% ดังนั้นสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาไทยอีกแน่ๆ ในความเห็นของผม เพราะส่งไปอเมริกาก็แพงแสนแพง
ดังนั้น เราจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ในกรณีเลวร้ายสุดจะอยู่ที่ 1.00% ในปี 2025 โดย
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ย 25bp ในเดือนเมษายนนี้ จากทั้งประเด็นเดิม นั่นคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจำกัดมาก และประเด็นใหม่ นั่นคือ แผ่นดินไหว และมาตรการภาษีของทรัมป์ในวันปลดแอก
- หากการปรับลดดอกเบี้ยรอบเดือนเมษายน (ถ้าเกิดขึ้น) ไม่เพียงพอ เราเชื่อว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง หรือ ลด 25bp ในเดือนมิถุนายนหรือสิงหาคม
- มากไปกว่านั้น เราเชื่อว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 25bp เมื่อผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนกันยายน 2025
- และถ้ากระสุนทั้งสามนัดที่ลดดอกเบี้ยไปไม่เพียงพอ กนง. อาจจะพิจารณาลดดอกเบี้ยอีก 25bp
ด้วยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะลดถึง 4 รอบ ดอลลาร์บาทจึงมีแนวโน้มอ่อนค่าแล้วแน่ๆ ซึ่งเรามองไว้ที่ 35.50 ณ สิ้นปี
ท้ายสุด…เราได้มีการปรับลดเป้าดัชนี SET สิ้นปีเหลือ 1,200 จุด หรือ เท่ากับ P/E 13.4x ในปี FY26 จากทั้ง 1. เรื่องที่ใครก็ไม่คาดคิด (แผ่นดินไหว) และ 2. เรื่องที่แย่มากกว่าที่หลายๆ คนคิด (ภาษีทรัมป์ในวันปลดแอกอเมริกา)
นี่แหละครับชีวิต วันปลดแอกเค้าแต่ป่วนมาถึงเรา เหมือนฝนที่ตกทางโน้นแต่หนาวมาถึงคนทางนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผม ‘เชื่อ’ และ ‘เริ่ม’ จะมั่นใจขึ้นมาบางแล้ว นั่นคือการ Downgrade หุ้นไทยและเศรษฐกิจไทย รอบนี้ถือว่า ‘เยอะ’ และ ‘ลึก’ พอสมควร
ผมจึง ‘เชื่อ’ และ ‘หวัง’ ว่าปรับประมาณการณ์รอบหน้าจะเป็นปรับ ‘ขึ้น’ ไม่น่าปรับ ‘ลง’ แล้ว เพราะถ้าปรับ ‘ลง’ อีกก็คงต้องเรียกว่า ‘จรดลล้างบาง’ แล้วละครับ

Screenshot
CGS International ปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 2025 เหลือเติบโตเพียง 1.5%YoY และมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง เหลือ 1.00% ในปี 2025
ภาพ: Andrew Harnik / Getty Images
อ้างอิง:
- CGS International, CGSI Estimates, CGSI Macro & Wealth Research, CGSI Quantitative Team, Bloomberg