กางเกงทรงหลวมและเสื้อยืดขนาดใหญ่ช่วยให้ Uniqlo แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รอดพ้นจากยอดขายที่ตกลงเป็นอย่างมาก อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งพุ่งเข้าชนกลุ่มแฟชั่นคู่แข่ง เช่น H&M และ Zara
ตอนนี้ ทาดาชิ ยานาอิ ผู้ก่อตั้งและประธานของ Uniqlo ได้เปลี่ยนมุมมองของเขาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคหลังเกิดโรคระบาด โดยย้ำว่าผู้ค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่อันดับ 3 จะต้องขายได้มากกว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายและราคาที่น้อยกว่า 2,900 เยน หรือราว 834 บาท เพื่อทำให้ Uniqlo ขึ้นเป็นอันดับ 1
ก่อนหน้านี้บทความของ Nikkei Asia ซึ่งได้สัมภาษณ์ยานาอิ เผยถึงมุมมองที่น่าสนใจว่า ตัวยานาอิเชื่อว่ายุคสมัยที่ผู้คนซื้อเสื้อผ้าเพื่อเติมเต็มความต้องการทางวัตถุได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยสมัยก่อนผู้คนอาจแต่งตัวเพื่อสร้างความประทับใจให้คนอื่นมอง แต่ปัจจุบันผู้คนต้องการเสื้อผ้าที่ช่วยให้ตัวเองใช้ชีวิตได้
ในวันนี้ (13 พฤศจิกายน) เป็นวันแรกที่ Uniqlo จะเริ่มจำหน่ายคอลเล็กชันใหม่ที่จับมือกับ ‘จิล แซนเดอร์’ (Jil Sander) ดีไซเนอร์สไตล์มินิมัลชาวเยอรมัน โดยมีรูปแบบและราคาที่เหนือกว่าสินค้าปกติของแบรนด์
ภายใต้คอลเล็กชันที่ชื่อว่า ‘+J’ (พลัสเจ) ถือเป็นการกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งของทั้งคู่ในรอบ 9 ปี โดยคอลเล็กชันใหม่ล่าสุด +J ประกอบไปด้วย เสื้อดาวน์ขนเป็ด แจ็กเก็ตอเนกประสงค์ เสื้อโค้ตผ้าแคชเมียร์ผสม ซึ่งระบุถึงการตัดเย็บที่ประณีต ทั้งการบุ การปะกระเป๋า การทำซิป ตะเข็บ และการซับในที่คอนทราสต์กัน
สิ่งที่ต้องจับตาคือ นี่ถือเป็นอีกก้าวของ Uniqlo ที่จะขยับไปขายสินค้าในราคาที่สูงมากขึ้น เพราะเสื้อโค้ตผ้าขนสัตว์ผสมแคชเมียร์คอลเล็กชันใหม่ราคา 22,900 เยนติดอันดับสินค้าที่มีราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ Uniqlo และสำหรับราคาในประเทศไทยนั้นถูกระบุว่า สินค้าที่ราคาแพงที่สุดอยู่ที่ 9,990 บาท ขณะเดียวกันมีสินค้าอีกเพียง 2-3 ชิ้นในปัจจุบันมีราคาสูงกว่า 20,000 เยน
มีการมองว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาจะช่วยให้ Uniqlo มีช่องทางการขายใหม่ ทว่าก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ด้วยมาในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดเดียวที่ใหญ่ที่สุดใน Uniqlo กำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดที่ยาวนาน
ถึงกระนั้นบน Twitter แฟนๆ Uniqlo หลายคนแสดงความตื่นเต้นเกี่ยวกับการกลับมาของการร่วมมือกับแซนเดอร์ ซึ่งเป็นตำนานการออกแบบ แต่หลายคนก็เสียใจกับราคาว่างจำหนายที่ค่อนข้างสูง
“เป็นเรื่องยากมากที่จะขยับตลาดระดับบน ผู้คนมีความเห็นที่ชัดเจนมากเกี่ยวกับราคาที่พวกเขาต้องการจ่ายเมื่อพูดถึง Uniqlo และราคาเหล่านั้นไม่อยู่ในช่วงดังกล่าว” Mike Allen นักวิเคราะห์จากร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นของ Jefferies กล่าว
นักวิเคราะห์บางคนยังอ้างถึงความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จของแบรนด์ทั่วไปอื่นๆ ที่พยายามทำตลาดระดับบนแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก แต่หลายคนก็มองว่านี่ถือเป็นอีกทางเลือกของ Uniqlo ซึ่งต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากแบรนด์ที่เพิ่งเกิดใหม่ตลอดจนแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์และกีฬา เช่น The North Face และ Nike
อย่างไรก็ตาม ยานาอิยังคงรักษาความทะเยอทะยานในการสร้าง Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของ Uniqlo ให้กลายเป็นบริษัทเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้บอกกับนักลงทุนว่า บริษัทจะให้ความสำคัญกับการผลิตเสื้อผ้าที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ด้วยเนื้อผ้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่และใส่ใจในรายละเอียด แทนที่จะปั้นสินค้าตามเทรนด์
ในการให้สัมภาษณ์กับ Wallpaper แซนเดอร์ให้มุมมองว่า +J เป็นโชว์สินค้าหน้าร้านของ Uniqlo เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถบรรลุความลักชัวรีได้ในระดับใด แต่ผู้บริหารของ Uniqlo ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าวพร้อมกับระบุว่า สิ่งที่ Uniqlo ต้องการมอบให้กับผู้บริโภคคือความสมบูรณ์แบบ และไม่ได้เจาะจงไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สร้างขึ้นมาสำหรับทุกคน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/article/us-japan-uniqlo-jil-sander-focus/uniqlo-revives-jil-sander-tie-up-in-post-pandemic-upmarket-push-idUSKBN27S0QX
- https://www.wallpaper.com/fashion/jil-sander-interview-j-uniqlo-aw-2020
- https://thestandard.co/tadashi-yanai-opinion-on-coronavirus-and-new-era/
- https://thestandard.co/uniqlo-fall-winter-2020/