×

ประมวลเหตุการณ์ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน

โดย THE STANDARD TEAM
06.01.2020
  • LOADING...
ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกรับปีใหม่ ด้วยการสั่งโจมตีทางอากาศในบริเวณสนามบินแบกแดดในอิรัก จนเป็นเหตุให้ พลตรี กัสเซม โซเลมานี ผู้บัญชาการคนสำคัญของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน  (IRGC) เสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ (3 มกราคม) ที่ผ่านมา สร้างความโกรธแค้นต่ออิหร่าน ที่ประกาศกร้าวจะแก้แค้นสหรัฐฯ จนทำให้หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าอาจบานปลายกลายเป็นสงคราม 

 

ที่มาที่ไปของความขัดแย้งระหว่างสองประเทศคู่อรินี้เป็นอย่างไร THE STANDARD ได้รวบรวมมาไว้ที่นี่

 

8 พฤษภาคม 2018: สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

อาจกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งเป็นคู่อริ ไม้เบื่อไม้เมากันมาช้านาน เกิดความบาดหมางอีกครั้งจากชนวนความขัดแย้งในข้อตกลงนิวเคลียร์ หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงที่รู้จักในชื่อ แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action) ซึ่งอิหร่านลงนามกับ 6 ชาติมหาอำนาจรวมถึงสหรัฐฯ โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจขัดขวางอิหร่านในการพัฒนานิวเคลียร์ได้จริง ซึ่งการถอนตัวของสหรัฐฯ ส่งผลให้อิหร่านต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไป

 

7 สิงหาคม 2018: คว่ำบาตรรอบแรก

ผลจากการที่สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ทำให้วอชิงตันหวนกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเป็นครั้งแรก หลังจากที่ยกเลิกการคว่ำบาตรไปตามข้อตกลงนิวเคลียร์ ภายใต้การคว่ำบาตรนี้ มีข้อห้ามไม่ให้ทำการค้ากับภาคธุรกิจของอิหร่านในบางประเภท อาทิ การบิน การค้าขายพรม ถั่วพิสตาชิโอ และทองคำ ส่งผลให้อิหร่านสูญเสียรายได้มหาศาล

 

5 พฤศจิกายน 2018: คว่ำบาตรรอบสอง

สหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเฟสสอง ครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ภาคธนาคารและการค้าน้ำมัน ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของอิหร่าน

 

8 เมษายน 2019: ขึ้นบัญชี IRGC เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ

ทรัมป์ ประกาศขึ้นบัญชีดำ กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ซึ่งเป็นกองทัพหลักของอิหร่าน เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ บรรจุกองทัพชาติอื่นอยู่ในบัญชีดำองค์กรก่อการร้าย ภายใต้การขึ้นบัญชีดำนี้ ทำให้สหรัฐฯ ขยายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเดินทางต่อ IRGC ขณะที่อิหร่านโต้กลับ กล่าวหาสหรัฐฯ เป็นรัฐที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และเรียกกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติภารกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางว่า “กลุ่มก่อการร้าย”

 

19 พฤษภาคม 2019: จรวดตกใกล้สถานทูตสหรัฐฯ ในแบกแดด

จรวดลูกหนึ่งถูกยิงตกลงใกล้กับสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดดของอิรัก แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งแม้จะไม่แน่ชัดว่าใครอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ แต่ทรัมป์ทวีตข้อความหลังเกิดเหตุว่า “หากอิหร่านต้องการสู้ นั่นจะเป็นจุดจบอย่างเป็นทางการของอิหร่าน ที่ไม่สามารถคุกคามสหรัฐฯ ได้อีก” ขณะที่ โมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ทวีตตอบโต้ว่าคำพูดน่าขันเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อิหร่านของทรัมป์ จะไม่ทำให้อิหร่านพบจุดจบ

 

20 มิถุนายน 2019: อิหร่านยิงโดรนสหรัฐฯ ตก

กองทัพอิหร่าน ประกาศว่ายิงโดรนของกองทัพสหรัฐฯ ตก หลังพบว่ามีการรุกล้ำน่านฟ้าอิหร่าน ขณะที่สหรัฐฯ ออกมายอมรับว่าโดรนถูกยิงตก แต่อ้างว่าเหตุเกิดขณะที่โดรนบินเหนือน่านน้ำสากล 

 

21 มิถุนายน 2019: ทรัมป์ ยกเลิกแผนโจมตีตอบโต้อิหร่าน

ทรัมป์เปิดเผยว่าได้ยกเลิกแผนโจมตีทางทหารต่ออิหร่าน เพื่อตอบโต้กรณีที่อิหร่านยิงโดรนของสหรัฐฯ ตก การตัดสินใจมีขึ้นก่อนการโจมตีจะเริ่มเพียง 10 นาที โดยทรัมป์มองว่าอาจก่อให้เกิดความสูญเสีย และมีผู้ถูกสังหารในปฏิบัติการโจมตีมากถึง 150 คน

 

22 มิถุนายน 2019: อิหร่านกร้าว พร้อมเผชิญหน้าการคุกคาม

รัฐบาลอิหร่านประกาศพร้อมเผชิญหน้าและรับมือการคุกคามใดๆ ก็ตามจากสหรัฐฯ และในวันเดียวกัน ได้สั่งประหารชีวิตลูกจ้างกระทรวงกลาโหม ที่ถูกตัดสินโทษข้อหาเป็นสายลับให้ CIA 

 

25 มิถุนายน 2019: สหรัฐฯ เพิ่มคว่ำบาตรผู้นำอิหร่าน

ทรัมป์ลงนามคำสั่งดำเนินการคว่ำบาตรด้านการเงินต่อ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และคนใกล้ชิด ซึ่งทรัมป์ มองว่าจะเป็นการตัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนของผู้นำอิหร่าน

 

4 กันยายน 2019: สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน

รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านด้วยการขึ้นบัญชีดำเครือข่ายบริษัทขนส่งน้ำมันของอิหร่าน ที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าดำเนินการภายใต้การควบคุมของ IRGC

 

 

11 ธันวาคม 2019: สหรัฐฯ คว่ำบาตรสายการบินใหญ่สุดของอิหร่าน

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรสายการบิน Mahan Air ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน และอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าของอิหร่าน โดยกล่าวหาว่ามีการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้แก่กลุ่มติดอาวุธในเยเมน

 

27 ธันวาคม 2019: ผู้รับเหมากองทัพสหรัฐฯ ถูกสังหาร

ชนวนบาดหมางที่นำไปสู่ความตึงเครียดระลอกล่าสุด เกิดขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธ คาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์ ในอิรัก ที่สหรัฐฯ เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ก่อเหตุยิงจรวดโจมตีฐานทัพ K1 ใกล้เมืองเคอร์คุก ส่งผลให้ชาวอเมริกัน ที่เป็นผู้รับเหมาของกองทัพเสียชีวิต 1 คน และมีผู้บาดเจ็บ ทั้งชาวอเมริกันและชาวอิรักอีกหลายคน โดยอิหร่านปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการโจมตี

 

29 ธันวาคม 2019: ทรัมป์สั่งโจมตีทางอากาศ ถล่มกลุ่มติดอาวุธในอิรักและซีเรีย

ทรัมป์ที่อยู่ระหว่างพักผ่อนในรีสอร์ตมาร์อาลาโก ในรัฐฟลอริดา หารือรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหม ก่อนสั่งโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมาย 5 สถานที่ทั้งในอิรักและซีเรีย ที่เป็นของกลุ่มติดอาวุธ คาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์ เพื่อตอบโต้การสังหารผู้รับเหมากองทัพสหรัฐฯ ผลการโจมตีทำให้นักรบของ คาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์ เสียชีวิต 25 คน ในจำนวนนี้ 4 คนเป็นระดับผู้บัญชาการหน่วยรบ 

 

หลังเกิดเหตุ รัฐบาลอิหร่านได้ออกมาประณามการโจมตีทางอากาศดังกล่าว และกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และกระทำการโดยไม่สนใจเอกราชหรืออธิปไตยของชาติใด พร้อมเตือนจะเผชิญผลลัพธ์จากการละเมิดกฎหมาย

 

31 ธันวาคม 2019: ผู้ประท้วงบุกสถานทูตสหรัฐฯ ในแบกแดด

ชาวอิรักที่สนับสนุนกลุ่มคาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์ และกองทัพอิหร่าน ก่อเหตุประท้วงและบุกสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดดที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ก่อนทำลายประตูและจุดไฟเผาสิ่งของต่างๆ ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ และอิรักจะเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วง 

 

หลังเกิดเหตุ ทรัมป์ กล่าวหาอิหร่าน ว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารผู้รับเหมากองทัพสหรัฐฯ และจุดชนวนความตึงเครียดรอบสถานทูตฯ พร้อมเตือนอิหร่านว่าจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด

 

2 มกราคม 2020: รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เตือนว่าอิหร่านกำลังวางแผนโจมตีบุคลากร-เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ

มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่าได้รับรายงานบ่งชี้ว่าอิหร่านหรือกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุน อาจกำลังวางแผนโจมตีบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง พร้อมเตรียมดำเนินมาตรการป้องกันและปกป้องชีวิตพลเรือนและกองทัพอเมริกัน

 

“ถึงอิหร่าน และกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน: เราจะไม่ยอมรับต่อการโจมตีอย่างต่อเนื่อง ต่อบุคลากรและกองทัพของเราในภูมิภาคตะวันออกกลาง การโจมตีเราจะต้องพบกับการตอบโต้ ในช่วงเวลา วิธีการ และสถานที่ที่เราเลือก เราเรียกร้องให้อิหร่านยุติการดำเนินการที่เป็นภัยเหล่านี้” เอสเปอร์ กล่าว

 

 

3 มกราคม 2020: สหรัฐฯ ปลิดชีพพลตรี โซเลมานี

01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 3 มกราคม 2020 กองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติการส่งโดรนไร้คนขับ ยิงจรวดโจมตีทางอากาศ ถล่มเป้าหมายขบวนรถใกล้กับสนามบินกรุงแบกแดด สังหารพลตรี กัสเซม โซเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษกุดส์ของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ที่เพิ่งเดินทางมาถึง พร้อมด้วย อาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดีส์ รองผู้บัญชาการกลุ่ม คาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์

 

ปฏิบัติการครั้งนี้ สั่งการโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ที่กล่าวหา พลตรี โซเลมานี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนสังหารชาวอเมริกันมากมาย ขณะที่ทรัมป์ปกป้องการตัดสินใจว่าเขาพร้อมดำเนินการใดๆ ก็ตามที่จำเป็น เพื่อปกป้องชาวอเมริกันจากการถูกคุกคาม 

 

ขณะที่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศกร้าวในทันทีว่าจะแก้แค้นสหรัฐฯ ต่อการสังหารพลตรี โซเลมานี ท่ามกลางกระแสความโกรธแค้นสหรัฐฯ ที่กำลังแพร่ลามไปทั่วทั้งในอิรักและอิหร่าน

 

4 มกราคม 2020: ทรัมป์ขู่โจมตีเป้าหมาย 52 แห่งในอิหร่าน

ทรัมป์ประกาศเตือนอิหร่านว่าจะล็อกเป้าโจมตีเป้าหมายสถานที่ในอิหร่าน 52 แห่งอย่างหนักหน่วงและรวดเร็ว หากอิหร่านโจมตีสหรัฐฯ เพื่อแก้แค้นให้โซเลมานี พร้อมให้เหตุผลว่าตัวเลข 52 หมายถึงชาวอเมริกัน 52 คนที่เคยถูกอิหร่านจับเป็นตัวประกันเมื่อหลายปีก่อน

 

5 มกราคม 2020: เหตุโจมตีบริเวณเขตสถานทูตสหรัฐฯ ในอิรัก

มีรายงานว่าเขตสถานทูตของสหรัฐฯ ในอิรักตกเป็นเป้าหมายการโจมตีโดยอาวุธหลายลูก แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ขณะที่ชาวอิหร่านหลายแสนคนได้รวมตัวกันต้อนรับโซเลมานีกลับมาตุภูมิเยี่ยงวีรบุรุษ ก่อนที่รัฐจะจัดพิธีศพให้เขาอย่างสมเกียรติ

 

6 มกราคม 2020: อิหร่านเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ

อิหร่านประกาศกร้าวว่าจะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับปี 2015 อีกต่อไป พร้อมเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม รวมถึงไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการเก็บสะสมแร่ยูเรเนียมบริสุทธิ์ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกองทัพสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ยังมีอยู่ คืออิหร่านจะแก้แค้นสหรัฐฯ อย่างไรหลังจากนี้ และทรัมป์จะดำเนินนโยบายและภารกิจกองทัพในตะวันออกกลางอย่างไรต่อไป ต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X