ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ประจำเดือนมิถุนายน ประกาศออกมาที่ 9.1% พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 41 ปี และสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ 8.8% ขณะที่ตัวเลขเมื่อเดือนที่แล้ว CPI เพิ่มขึ้น 8.6%
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง Dow Jones ลดลง 1% ส่วน S&P 500 ลดลง 1.5% และ Nasdaq 100 ลดลง 2%
ขณะที่ตัวเลข Core CPI เพิ่มขึ้น 5.9% เทียบกับคาดการณ์ที่ 5.7% และหากพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่า CPI เพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่ Core CPI เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบกับคาดการณ์ที่ 1.1% และ 0.5% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ราคาพลังงานในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 7.5% โดยรวมแล้วส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นมาแล้วถึง 41.6% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 1% ที่พักอาศัยเพิ่ม 0.6% ทำให้ราคาอาหารและที่พักเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% ติดต่อกันแล้วถึง 6 เดือน
ก่อนที่ตัวเลข CPI จะรายงานออกมา ตลาดการเงินคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขยับขึ้นเป็น 1.5-1.75% ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงสุดนับตั้งแต่ปี 1994
ขณะที่ตลาดหุ้นต้องเผชิญกับแรงกดดันจากบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้นต่อเนื่องและน่าดึงดูดมากกว่า ขณะที่จำนวนหุ้นในดัชนี S&P 500 ที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงต่ำสุดนับแต่ปี 2007 โดยการจ่ายปันผลของแต่ละบริษัทต่างถูกกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง และห่วงโซ่อุปทานที่มีปัญหา
สำหรับบริษัทอย่างสายการบิน Delta คาดการณ์ว่ากำไรในไตรมาส 2 จะแย่กว่าที่คาดไว้ และน่าจะเห็นต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นไปตลอดทั้งปี นอกจากนี้ Spirit Airlines ก็ชะลอแผนการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติการควบรวมกิจการกับ Frontier Group Holdings
ด้านธนาคารต่างๆ ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ 6 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด คาดว่ากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิจะเพิ่มขึ้นราว 15% แต่ในขณะเดียวกันรายได้จากสินเชื่อบ้านและธุรกิจวาณิชธนกิจน่าจะลดลง
อ้างอิง: