ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (CPI) ปรับตัวขึ้นในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 4 เดือนในเดือนกุมภาพันธ์ นับเป็นข่าวดีสำหรับครัวเรือนอเมริกันที่ยังคงกังวลว่าภาษีศุลกากรอาจทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (BLS) ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (12 มีนาคม) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (headline CPI) เพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากปรับตัวขึ้นมากถึง 0.5% ในเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนีพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง ก็เพิ่มขึ้น 0.2% เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวนี้ ซึ่งได้รับแรงหนุนบางส่วนจากราคารถยนต์และน้ำมันที่ลดลง อาจเป็นเพียงช่วงสั้นๆ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจผลักดันให้ราคาสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่อาหารไปจนถึงเสื้อผ้า ปรับตัวสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ท้าทายความสามารถในการรับมือของผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม
ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump ได้กล่าวถึงราคาสินค้าที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าว่าเป็นเพียง “ความปั่นป่วนเล็กน้อย” ซึ่งประเทศสามารถรับมือได้ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของเขา รวมถึงมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ได้นำไปสู่การร่วงลงของตลาดหุ้นเมื่อไม่นานมานี้ และจุดชนวนให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) อีกครั้ง Trump ได้พยายามลดกระแสความวิตกกังวลเหล่านั้นลงเมื่อวันอังคาร
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังใช้แนวทาง wait-and-see รอดูสถานการณ์จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลและแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยมีการคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่าเจ้าหน้าที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน กระแสคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น ได้กระตุ้นให้เกิดการคาดเดาว่า Fed อาจลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยคาดไว้
ดัชนี Nasdaq Composite ปรับตัวขึ้นในวันพุธ หลังจากรายงานเงินเฟ้อที่อ่อนลงช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ขณะที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้
ดัชนี Nasdaq ซึ่งเน้นหุ้นเทคโนโลยี ปิดตลาดในแดนบวก 1.22% ที่ระดับ 17,648.45 จุด ขณะที่ S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.49% ปิดตลาดที่ 5,599.30 จุด ส่วนดัชนี Dow Jones Industrial Average ปรับตัวลดลง 82.55 จุด หรือ 0.2% ปิดตลาดที่ 41,350.93 จุด
แม้ว่าภาคเทคโนโลยีจะลดลงมากกว่า 3% ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ แต่ในวันพุธ กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้และช่วยหนุนดัชนี S&P 500 โดยหุ้น Nvidia พุ่งขึ้น 6.4% ขณะที่ AMD เพิ่มขึ้นกว่า 4% Meta Platforms ขยับขึ้น 2% และ Tesla ทะยานขึ้นกว่า 7%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังของผู้ซื้อขายต่อนโยบายของ Fed ลดลงถึง 4 basis point สู่ระดับต่ำสุดในรอบวันที่ 3.90% ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นสูงถึง 4% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะพุ่งขึ้นสูงถึง 4.33%
ปัญหาหนี้และการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนแรกของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Trump โดยการขาดดุลงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ว่าปีงบประมาณจะยังไม่ถึงครึ่งทางก็ตาม
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า แม้การใช้จ่ายของรัฐบาลจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบรายเดือน แต่ก็ยังสูงกว่ารายได้อย่างมาก โดยตัวเลขขาดดุลในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่กว่า 3.07 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2.5 เท่าจากเดือนมกราคม และสูงขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2024
เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลขขาดดุลรวมอยู่ที่ 1.15 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2025 ซึ่งตัวเลขรวมนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2024 ประมาณ 3.18 แสนล้านดอลลาร์ หรือสูงขึ้นประมาณ 38% และสร้างสถิติสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าว
ภาพ: Catherine McQueen / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-03-12/us-inflation-comes-in-lower-than-forecast-offering-some-relief?srnd=homepage-asia
- https://www.cnbc.com/2025/03/12/us-budget-deficit-surged-in-february-passing-1-trillion-for-new-year-to-date-record.html
- https://www.cnbc.com/2025/03/11/stock-market-today-live-updates.html