วันนี้ (11 ตุลาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการประชุมระหว่างกลุ่มตาลีบันและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ตาลีบันเผย สหรัฐฯ เตรียมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวอัฟกัน ย้ำชัดปฏิเสธการรับรองกลุ่มตาลีบันที่ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศจากการยึดอำนาจ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ภาพรวมของการเจรจาเป็นไปในทิศทางบวก ส่วนใหญ่ประเด็นที่หารือเกี่ยวกับการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่บรรดาชาวอัฟกันในอัฟกานิสถานโดยตรง โดย เนต ไพรซ์ โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นการประชุมที่ตรงไปตรงมาและมีความเป็นมืออาชีพ ชี้กลุ่มตาลีบันจะได้รับการตัดสินจากสิ่งที่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาพูด
“ผู้แทนของสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่ประเด็นด้านความมั่นคงและการก่อการร้าย ความปลอดภัยของพลเมืองสหรัฐฯ พลเมืองต่างชาติและชาวอัฟกัน รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้เด็กและผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกแง่มุมของสังคมอัฟกัน” ไพรซ์กล่าว
ขณะที่กลุ่มตาลีบันชี้ จะไม่ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการป้องปรามกลุ่มขบวนการรัฐอิสลาม (IS) กลุ่มก่อการร้ายที่เครือข่ายยังคงปฏิบัติการอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ Islamic State in Khorasan Province หรือ ISKP เครือข่ายกลุ่ม IS ที่ปฏิบัติการอยู่ในอัฟกานิสถาน
โดย บิล รอคจิโอ ภาคีอาวุโสจากมูลนิธิ Foundation for Defense of Democracies ชี้ว่า กลุ่มตาลีบันพยายามมา 20 ปี เพื่อที่จะผลักให้สหรัฐฯ ออกไปจากอัฟกานิสถาน สิ่งสุดท้ายที่พวกเขาต้องการคือ การกลับมาอีกครั้งของรัฐบาลสหรัฐฯ และพวกเขาเองก็ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการจัดการกับกลุ่ม ISKP และค่อนข้างไม่มีเหตุผลที่สหรัฐฯ คิดว่ากลุ่มตาลีบันจะเป็นพันธมิตรที่ช่วยต่อกรกับกลุ่มก่อการร้ายได้ เพราะกลุ่มนี้ก็ให้การสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์มาอย่างยาวนาน
สังคมอัฟกันยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายในหลากหลายมิติ นับตั้งแต่ทางการสหรัฐฯ ถอนกำลังทางทหารออกไปจากอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ยุติการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานที่ยืดยาวมาราว 20 ปีลงในที่สุด
แฟ้มภาพ: U.S. Department of State / Handout / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: