เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPMorgan แสดงความเห็นเตือนบรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดโดยระบุว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในเวลานี้จะมีปัจจัยบวกที่หนุนให้การเติบโตแข็งแกร่ง แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถระวังและมองข้ามโอกาสที่จะลงจอดอย่างรุนแรง (Hard Landing)
ทั้งนี้การลงจอดอย่างรุนแรงอาจหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง หลังธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อกำราบเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกันไดมอนยังแสดงความเห็นว่า ผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับสหรัฐฯ คือความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันที่มาพร้อมกับเงินเฟ้อสูง
โดยไดมอนกล่าวอีกว่า ผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นสถานการณ์ Stagflation ซึ่งอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตจะชะลอตัว ท่ามกลางการว่างงานสูง ซึ่งภาวะนี้หมายความว่ากำไรของบริษัทต่างๆ จะลดลง และแม้ว่าในท้ายที่สุดเศรษฐกิจโลกจะสามารถปรับตัวอยู่รอดได้ แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะ Stagflation ก็สูงกว่าที่ใครหลายคนคิด
อย่างไรก็ตาม ไดมอนชี้ว่า ต่อให้สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในเวลานี้จะค่อนข้างน่ากังวล แต่กำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงอยู่ในสภาพที่ดี แม้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม ก่อนชี้ไปที่ตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดซึ่งอยู่ต่ำกว่า 4% ในขณะที่ค่าจ้าง ราคาบ้าน และราคาหุ้นกำลังปรับตัวสูงขึ้น
ไดมอนกล่าวอีกว่า เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ โดยในรายงานสรุปการประชุม Fed เมื่อเดือนพฤษภาคมที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (22 พฤษภาคม) แสดงให้เห็นว่า Fed มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น โดยสมาชิกของคณะกรรมการนโยบายการเงินระบุว่า พวกเขาขาดความมั่นใจในการผ่อนปรนนโยบายการเงินและลดอัตราดอกเบี้ย
จากข้อมูลของ CME FedWatch พบว่า ครึ่งหนึ่งของเหล่าเทรดเดอร์ที่ตอบแบบสอบถามต่างให้น้ำหนักว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกันยายน ซึ่งแรกเริ่มเดิมที Fed คาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไดมอนประเมินว่า Fed มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเล็กน้อย และโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแทนที่จะปรับลดก็มีค่อนข้างสูงกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดคิด โดยเหตุผลหลักเป็นเพราะมาตรการกระตุ้นทางการเงินทางการคลังจำนวนมหาศาลยังอยู่ในระบบ และอาจยังคงผลักดันสภาพคล่องบางส่วน
ขณะเดียวกันสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าก็คือ โลกในขณะนี้ยังไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งสิ่งที่ต้องพึงตระหนักให้มากก็คือ สิ่งที่คาดการณ์ต่อให้ดีแค่ไหนก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป
อ้างอิง: