×

ทำไมต้องชัตดาวน์? เผยเบื้องหลัง Government Shutdown เรื่องไม่ใหม่ของการเมืองสหรัฐฯ

27.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ จำต้องปิดทำการลงเนื่องจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตกลงกันในเรื่องการจัดสรรงบประมาณได้ แต่เกิดขึ้นมาแล้วร่วม 20 ครั้ง
  • ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (บุชผู้พ่อ) ประธานาธิบดีบิล คลินตัน หรือแม้กระทั่งในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา จนมาถึงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์
  • Government Shutdown คืออะไร และจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง บทความนี้จะเผยเบื้องลึกเบื้องหลังของระบบประธานาธิบดีที่ทำให้ต้องชัตดาวน์อยู่บ่อยครั้ง

 

 

ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ จำต้องปิดทำการเป็นบางส่วน เมื่อสภาคองเกรสกับฝ่ายบริหาร ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถตกลงกันในเรื่องการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2019 ของหน่วยงานบางส่วนได้

 

สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างสภาคองเกรสกับฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีหลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่ความพยายามของทรัมป์ในการจัดสรรงบประมาณสำหรับการสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโก อันเป็นนโยบายหลักที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 2 ปีก่อน (แม้ว่าทรัมป์จะเคยกล่าวว่าเม็กซิโกจะเป็นผู้จ่ายเงินสำหรับการสร้างกำแพงดังกล่าวก็ตาม)

 

 

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ทรัมป์เรียกร้องให้สภาคองเกรสจัดสรรงบประมาณจำนวน 5,700 ล้านเหรียญให้กับโครงการสร้างกำแพงของเขา ซึ่งถูกปฏิเสธจากสภาคองเกรส ทรัมป์ตอบโต้ว่า หากข้อเรียกร้องของเขาไม่ได้รับการตอบสนองจากสภาคองเกรส เขายินดีจะปิดทำการรัฐบาล แต่ต่อมาทรัมป์ก็กลับลำว่าเขาจะลงนามในการจัดสรรงบประมาณที่จะช่วยประคองรัฐบาลไปจนถึงช่วงต้นปี 2019

 

อย่างไรก็ดี เมื่อวุฒิสภาผ่านการจัดสรรงบประมาณชั่วคราว ซึ่งจะยืดระยะงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ทรัมป์ก็กลับลำอีกครั้ง โดยประกาศว่าจะไม่ยอมลงนามในงบประมาณใดๆ ที่ไม่จัดสรรงบประมาณให้กับโครงการการสร้างกำแพงชายแดนอย่างเด็ดขาด หลังการยืนกรานของทรัมป์ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก จึงผ่านการจัดสรรงบประมาณอีกฉบับที่จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ร่างการจัดสรรงบประมาณไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งแม้จะมีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการผ่านร่างดังกล่าวที่ต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5

 

เมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อจนเลยเส้นตายที่งบประมาณประจำปี 2018 หมดอายุลง หน่วยงานซึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เช่น กระทรวงความมั่นคงภายในประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม จึงจำต้องปิดทำการอย่างไม่มีกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งทรัมป์และผู้นำวุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อยพรรคเดโมแครตต่างยืนยันว่าจะไม่ประนีประนอมจุดยืนของตัวเอง

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ จำต้องปิดทำการลงเนื่องจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตกลงกันในเรื่องการจัดสรรงบประมาณได้ แต่เกิดขึ้นมาแล้วร่วม 20 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (บุชผู้พ่อ) ประธานาธิบดีบิล คลินตัน หรือแม้แต่กระทั่งในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา

 

การปิดทำการชั่วคราวของรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลคลินตันในปี 1996 ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในเรื่องนโยบายการศึกษาและสุขภาพ โดยในขณะที่คลินตันต้องการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อดำเนินนโยบายทางด้านสังคม เช่น การศึกษา เด็ก และสุขภาพ พรรครีพับลิกันกลับมองว่าการที่รัฐบาลจำเป็นต้องตัดลดการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็นลง ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องหยุดทำการชั่วคราวเป็นเวลาถึง 21 วัน (5 ธ.ค. 1995 ถึง 6 ม.ค. 1996)

 

โดยจำนวนวันดังกล่าวยังไม่นับรวมความขัดแย้งในเรื่องเดียวกันที่ทำให้รัฐบาลในสมัยคลินตันต้องหยุดทำงานชั่วคราวไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 1995 เป็นเวลา 6 วัน

 

ความขัดแย้งในเรื่องหลักประกันด้านสุขภาพยังคงเป็นชนวนสำคัญให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปิดทำการชั่วคราวอีกครั้งในปี 2013 เมื่อฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา พร้อมด้วยวุฒิสภาซึ่งมีพรรคเดโมแครตเป็นเสียงข้างมาก ไม่สามารถตกลงกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรครีพับลิกันในเรื่องโครงการประกันสุขภาพ หรือที่เรียกในชื่อเล่นว่า ‘โอบามาแคร์’ ได้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องหยุดทำการในช่วงเดือนตุลาคมเป็นเวลาถึง 16 วัน

 

 

ภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ การปิดทำการชั่วคราวของรัฐบาลในครั้งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเช่นกัน โดยเกิดขึ้นไปแล้วหนึ่งครั้งในเดือนมกราคม 2018 และในช่วงไม่กี่ชั่วโมงอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 โดยความขัดแย้งที่ส่งผลต่อการหยุดทำการชั่วคราวของรัฐบาลในเดือนมกราคมนั้นก็คือเรื่องคนเข้าเมืองนั่นเอง

 

สาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการปิดทำการชั่วคราวอยู่บ่อยครั้ง เป็นเพราะกลไกการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในระบบประธานาธิบดี

 

ในขณะที่ประธานาธิบดีสามารถยื่นข้อเสนอด้านการจัดสรรงบประมาณต่อสภาคองเกรส ซึ่งส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ประธานาธิบดีให้ความสำคัญ ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ถืออำนาจเต็มและทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดสรรบงประมาณประจำปี

 

กระบวนการในการจัดสรรงบประมาณเริ่มต้นขึ้นเมื่อประธานาธิบดียื่นข้อเสนองบประมาณให้กับสภาคองเกรส จากนั้นคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงทำการจัดสรรงบประมาณแยกกัน ซึ่งอาจจะเป็นไปตามคำร้องขอของประธานาธิบดีหรือไม่ก็ได้

 

ร่างการจัดสรรงบประมาณทั้งสองฉบับจะเข้าสู่กระบวนการการถกเถียงและลงมติในแต่ละสภา โดยหลังจากทั้งสองสภาลงมติผ่านร่างการจัดสรรงบประมาณของตัวเอง จะมีคณะกรรมาธิการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อแตกต่างของร่างที่จัดทำจากแต่ละสภา จากนั้นร่างงบประมาณที่ได้รับการไกล่เกลี่ยข้อแตกต่างแล้วจะเข้าสู่กระบวนการลงมติในแต่ละสภาอีกครั้ง

 

หากร่างดังกล่าวผ่านการลงมติจากทั้งสองสภา ประธานาธิบดีก็จะลงนามประกาศเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากประธานาธิบดีไม่พอใจต่อร่างการจัดสรรงบประมาณของสภาคองเกรส ประธานาธิบดีก็สามารถวีโต้ร่างดังกล่าวได้ และหากสภาคองเกรสยังยืนกรานตามร่างงบประมาณของตัวเอง ก็สามารถกลับการวีโต้ของประธานาธิบดีได้ด้วยการลงมติ 2 ใน 3

 

แต่ในสภาวะที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากเกิน 2 ใน 3 อย่างทุกวันนี้ การลบล้างการวีโต้ของประธานาธิบดีจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง

 

 

การปิดการทำการของรัฐบาลอย่างไม่รู้วันสิ้นสุดเนื่องจากการยืนกรานจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนของประธานาธิบดีในครั้งนี้ ส่งผลต่อพนักงานของรัฐหลายแสนคนซึ่งถูกบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน หน่วยงานราชการต่างๆ หยุดให้บริการ เช่น หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจขนาดเล็ก หน่วยงานที่ให้หลักประกันกับการกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พิพิธภัณธ์ที่ดำเนินการโดยรัฐ ซึ่งจะปิดทำการอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสภาคองเกรสและประธานาธิบดีจะสามารถตกลงกันในเรื่องงบประมาณได้ ส่วนอุทยานแห่งชาติบางส่วนยังคงเปิดให้เข้าไปชม แต่จะไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล

 

ในส่วนของต่างประเทศและประเทศไทย พนักงานที่ทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ตามสถานทูตและไม่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือความปลอดภัยของชีวิตโดยตรง จะต้องถูกบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่สถานทูตยังคงให้บริการทำวีซ่าและพาสปอร์ตตามปกติ ตราบใดที่ค่าธรรมเนียมในการทำเอกสารดังกล่าวยังเพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว

 

ส่วนผู้ที่เตรียมเดินทางมายังสหรัฐฯ หรือกำลังอยู่ระหว่างการท่องเที่ยวในสหรัฐฯ อาจต้องตรวจสอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวใดดำเนินงานโดยรัฐบาล เนื่องจากสถานที่เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะปิดยาวอย่างไม่มีกำหนดจนกว่ารัฐบาลและสภาคองเกรสจะประนีประนอมกันในเรื่องงบประมาณประจำปี 2019 ได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X