×

อุ้มแบงก์ครั้งใหญ่…สกัดวิกฤตทันไหม?

23.03.2023
  • LOADING...

เดือนมีนาคม 2023 คงจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ-การเงินโลก เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นธนาคารระดับกลาง-ใหญ่ในอเมริกาและยุโรปเผชิญปัญหาวิกฤตความเชื่อมั่นจนต้องให้รัฐบาลมาช่วย ‘อุ้ม’ (Bailout) แม้แต่สถาบันการเงินระดับยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีอายุถึง 167 ปีก็หนีไม่พ้น

 

มองไปข้างหน้าคำถามที่สำคัญสำหรับพวกเราคือ อุ้มแล้วหยุดวิกฤตการเงินได้ไหม กระทบเราในประเทศไทยอย่างไร วันนี้ลองมาตอบคำถามที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ เผื่อพอมีประโยชน์ (แต่ยาวหน่อยนะครับ)

 

1. ตกลงอเมริกา-ยุโรปอุ้มแบงก์หรือไม่

ใช่ แต่ไม่ได้ ‘อุ้มเต็มๆ’และไม่อยากให้เรียกว่า ‘อุ้ม’

 

ทั้งในอเมริกาและยุโรป รัฐยังไม่ได้ออกมาการันตีเงินฝากของทุกคนในแบงก์ที่มีปัญหา แล้วก็มีความพยายามไม่ให้นักลงทุนในแบงก์เหล่านี้ล้มบนฟูก

 

ในอเมริกาโปรแกรม Bank Term Funding Program (BTFP) ของ Fed ให้กู้กับธนาคารที่ถือพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บางประเภทเท่านั้น ซึ่งตอบโจทย์บางธนาคาร (เช่น SVB) แต่ไม่ช่วยบางธนาคารที่มีปัญหา (เช่น First Republic Bank) ที่ไม่ค่อยมีสินทรัพย์เหล่านี้เท่าไร จึงต้องมีการ ‘ชวน’ แบงก์ใหญ่ๆ มาช่วย และตอนนี้รัฐบาลก็กำลังถกเถียงว่าจะขยายการการันตีเงินฝากให้ครอบคลุมกว้างขึ้นไหม เพราะเงินฝากกำลังไหลออกจากธนาคารขนาดเล็กไปสู่ธนาคารใหญ่ที่คนมองว่าปลอดภัยกว่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ในยุโรป ธนาคารกลางสวิสเป็นคนผลักดันคลุมถุงชนให้สองธนาคารที่เป็นคู่แข่งกันมานานแต่งงานกัน และมีทั้งการให้สินเชื่อพิเศษและการันตีว่าจะช่วยแบกรับการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากดีลนี้ถึงเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับ UBS ที่จะเป็นผู้เข้าไปซื้อเครดิตสวิส 

 

แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามไม่ให้นักลงทุนทั้งหลายล้มบนฟูก โดยการตัดสินใจที่สำคัญคือ การทำให้ตราสารหุ้นกู้แปลงสภาพ AT1 (ชื่อเล่นว่า CoCo Bond) ถูก Write Off คือจากมูลค่าประมาณ 17,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นศูนย์ ซึ่งมีผลกระทบกับกองทุนหลายราย และที่สำคัญส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อตราสารประเภทนี้ทั้งหมดที่มีตลาดใหญ่มูลค่าถึง 275,000 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมมีข่าว ‘รัฐอุ้มแบงก์’ แล้ว แต่ตลาดยังผันผวนและคนยังกังวลอยู่ 

 

2. ทำไมต้องอุ้มแบงก์ ปล่อยเจ๊งไม่ได้หรือ

ปล่อยแบงก์ล้มแบบไม่ระวังไม่ได้ เพราะเสี่ยงจะเกิดวิกฤตการเงินที่สร้างแผลยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยธรรมดา

 

ระบบธนาคารเป็นเสมือนเครือข่ายท่อน้ำที่ส่งน้ำหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้มีชีวิต หากเกิดวิกฤตธนาคาร-การเงินก็เหมือนระบบท่อพัง ต่อให้ในถังรวมมีน้ำอยู่เพียงพอก็จะไม่สามารถส่งต่อน้ำนี้ไปให้ผู้ที่ต้องการได้ ระบบการชำระเงิน ให้สินเชื่อ ฝากเงิน ฯลฯ อาจจะล่มหมด ทำเศรษฐกิจล้มแรงและกลับมาฟื้นยาก

 

ปัญหาคือดีไซน์ของระบบธนาคารมีจุดเปราะบางอยู่ เพราะธนาคารรับเงินฝากที่คนขอคืนได้ทุกเมื่อ แล้วเอาไปลงทุน-ปล่อยกู้กับสินเชื่อที่มักจะเป็นระยะกลาง-ยาวเรียกคืนไม่ได้ทันที หรือหากเรียกคืนทันทีก็ต้องขายขาดทุน สิ่งที่จะต้องไม่ให้เกิดคือการที่คนฝากเงินตื่นตระหนกเรียกเงินคืนพร้อมๆ กันจนธนาคารถูกบังคับให้ไปขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ในราคาแย่ๆ (กรณี SVB เป็นตัวอย่างล่าสุด)

 

ที่สำคัญเวลาคนฝากเงินตื่นตระหนก เขาจะไม่ได้หนีแค่ธนาคารที่เป็น ‘แบดบอย’ ก่อปัญหาเท่านั้น แต่จะถอนเงินหนีจากทุกธนาคารที่คล้ายกัน เพราะมักสมมติก่อนว่าทุกเจ้ามีปัญหา ‘เด็กดี’ จึงโดนทำโทษไปด้วย 

 

ดังที่มีปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า “นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชอบบอกว่าเชื่อในมือที่มองไม่เห็น (Invisible Hands) แต่ในยามวิกฤตทุกคนเชื่อแต่มือที่มองเห็น (ของรัฐ) เท่านั้น”

 

3. ถ้าฉะนั้นทำไมไม่อุ้มให้สุดไปเลย

ถ้าอุ้มแบงก์เต็มที่จะแพงมากสำหรับรัฐบาล นอกจากนี้ยังไม่แฟร์เพราะต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปค้ำแบงก์ที่อาจจะบริหารไม่ดี เวลาได้ไม่เห็นมาแบ่ง แต่เวลาเสียทุกคนช่วยแชร์ต้นทุน 

 

นอกจากนี้ ยังสร้างนิสัยเสียให้กับระบบการเงิน (Moral Hazard) หากนักลงทุน/ผู้บริหารล้มบนฟูกไปด้วยต่อไปก็ไม่ต้องระวังความเสี่ยงกันเท่าที่ควร

 

ดังนั้น หลังจากการอุ้มแบงก์ รัฐบาลมักจะมีการออกกฎเกณฑ์-มาตรการใหม่ๆ มาเพื่อคุมพฤติกรรมของสถาบันการเงินประเภทที่เพิ่งก่อปัญหาไป (เช่น หลังวิกฤต 2008-2009 ก็มี Dodd-Frank และคราวนี้ก็เชื่อว่าคงมีมาตรการออกมากำกับธนาคารขนาดเล็ก-กลางมากขึ้นในอเมริกา) 

 

แต่ส่วนใหญ่สุดท้ายก็เป็น ‘เกมแมวจับหนู’ เพราะสถาบันการเงินมักจะหาท่าใหม่ๆ ในการหาความเสี่ยง-เพิ่มรายได้เสมอ โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ต่ำๆ เป็นเวลานานทำให้แบงก์หารายได้ยากขึ้น ก็จะมีการหาผลตอบแทนสูงโดยรับความเสี่ยงมากขึ้น (Yield-Seeking)

 

นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศล้วนไม่อยากเก็บดอกเบี้ยต่ำนานๆ

 

5. แล้วทั้งหมดนี้มันกระทบเราอย่างไรบ้าง

ต้องระวัง หนึ่ง วิกฤตการเงินโลก (ความเสี่ยงยังไม่สูงนัก) สอง ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในโลกตะวันตกฉุดการส่งออก (ความเสี่ยงสูง) และ สาม ดอกเบี้ยอาจขึ้นไม่สูงเท่าที่เคยคาด

 

เพราะรัฐบาล-ธนาคารกลางในอเมริกาและยุโรปกำลังเดินบาลานซ์ตัวเองบนเชือก ไม่ให้อุ้มแบงก์มากไปจนเสียระบบ แต่ก็ไม่น้อยไปจนวิกฤตศรัทธาลามต่อไป โอกาสที่จะ ‘พลาด’ เกิดเป็นวิกฤตการเงินจึงมีอยู่ 

 

แม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะมองตรงกันว่าความเสี่ยงต่อวิกฤตรอบนี้ค่อนข้างต่ำ เพราะระบบธนาคารในอเมริกาและยุโรปมีความแข็งแกร่งทางการเงินกว่าเดิมมาก ไม่ว่าจะดูจากสัดส่วนเงินทุน สภาพคล่อง ฯลฯ โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบ (รวมทั้งเครดิตสวิสเอง) แต่เราไม่ควรประมาทเพราะวิกฤตการเงินมักจะเกิดจากจุดที่เรามองไม่เห็น และมีต้นตอที่แตกต่างจากรอบก่อนๆ เสมอ

 

นอกจากนี้ ถึงจะรอดจากวิกฤตการเงินก็อาจไม่รอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในโลกตะวันตก ที่มีโอกาสสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิมเพราะปัญหาในภาคธนาคารเหล่านี้

 

เหตุผลก็เพราะวิกฤตศรัทธาในระบบธนาคารกำลังทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างรัดเข็มขัดไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะกลัวไม่มีเงินหากคนมาถอนเงิน โดยเฉพาะกลุ่มขนาดกลางและเล็กในอเมริกา ที่มีบทบาทสำคัญด้านการปล่อยสินเชื่อทั้งเพื่อภาคอุตสาหกรรม (50%) ที่อยู่อาศัย (60%) และผู้บริโภค (45%) 

 

เมื่อเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปทรุดลงอีก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะออกมาในรูปการฉุดการส่งออกของเราจากที่ติดลบอยู่แล้วให้อาการหนักกว่าเดิม ต้องหันไปพึ่งพาการท่องเที่ยวมากขึ้น และหวังว่าจีนจะยังฟื้นตัวต่อ 

 

แต่ในขณะเดียวกันความกังวลเหล่านี้อาจทำให้ Fed ระมัดระวังการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะเกรงว่าน้ำลดเร็วอาจมีตออื่นๆ ผุดขึ้นมาอีกจนแก้ไม่ทัน นี่เองน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมื่อคืน (22 มีนาคม) แม้ Fed จะยังขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่ก็เริ่มไกด์ตลาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจใกล้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะมีส่วนลดแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยเช่นกัน 

 

ดังนั้น แม้ไม่มีวิกฤตการเงินก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีปัญหา และเวลามีปัญหาก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาสเลย ต้องอ่านเกมดีๆ และคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิดครับ

 

ปล. ผมเคยทำงานที่เครดิตสวิสสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคอยู่หลายปี ก่อนออกไปทำงานภาคเทคโนโลยี บอกได้เลยว่าธุรกิจเครดิตสวิสในอาเซียนนั้นแข็งแกร่งและมีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้น ขอเป็นกำลังใจให้อดีตเพื่อนร่วมงานทุกคนที่ต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดเขาเลย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X