×
SCB Omnibus Fund 2024

ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ กับการลงทุน

03.11.2020
  • LOADING...

หลายปัจจัยที่กำลังส่งผลต่อตลาดหุ้นและแนวโน้มการลงทุนอยู่ในขณะนี้ มีปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากเป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นั่นก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 59 ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ (วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563)

 

โดยเราจะเห็นได้จากในสัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มา ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก เนื่องจากนักลงทุนกังวลถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยผลการเลือกตั้งอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร และมีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหนกับการอนุมัติออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่สอง ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะนี้

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงพิเศษที่ต้องจับตามองในช่วงแรกหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้ตลาดอาจประสบความผันผวน นั่นคือ ผลการเลือกตั้งมีโอกาสสูงมากที่จะล่าช้า อาจต้องใช้เวลายาวนานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์กว่าจะรู้ผล อันมาจากสองปัจจัยคือ

 

ปัจจัยแรก  หากผลเลือกตั้งสูสี ย่อมเกิดการเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่ซึ่งอาจใช้เวลานาน และปัจจัยที่ 2 เรื่องของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้อาจมีกลุ่มคนจำนวนมากส่งใบลงคะแนนทางไปรษณีย์ ซึ่งจะยิ่งล่าช้ามากขึ้นหากคะแนนแพ้ชนะไม่ขาดลอย เพราะต้องเสียเวลาในการจัดส่ง การตรวจสอบความถูกต้อง ตลอดจนการนับด้วยมือที่อาจกินเวลายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า อาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากมีการส่งคะแนนทางไปรษณีย์จำนวนมาก โดยอ้างถึงความกังวลว่าอาจมีความผิดพลาด อาจจะนำไปสู่การประท้วงผลคะแนน การนับคะแนนใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้าและความไม่แน่นอน ส่งผลทางลบต่อตลาดหุ้นในช่วงหลังเลือกตั้ง

 

สำหรับนโยบายของทรัมป์ ยังคงชูกฎหมายปฏิรูปภาษี พร้อมจะกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่เศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงการยกเลิกโอบามาแคร์ และขับเคลื่อนโปรแกรมการฝึกอบรมและทำให้การเข้าถึงการศึกษา เพื่อนำไปสู่การได้รับค่าตอบแทนการจ้างงานที่มากขึ้น

 

ในส่วนของ โจ ไบเดน มีนโยบายจะฟื้นคืนความสำเร็จให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปทั้งหลาย และจะระดมกำลังชาวอเมริกันในอุตสาหกรรมการผลิตและนวัตกรรมในการก้าวเข้าสู่อนาคต Made in America หลังจากเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 มีผลกระทบต่อห่วงโซ่ของประเทศ พร้อมทั้งได้เตรียมร่างโครงการ ‘เศรษฐกิจพลังงานสะอาด’ เพื่อให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

 

รวมถึงการสร้างงานดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้าน และการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะช่วยลดภาระการดูแลสำหรับผู้ปกครองที่กำลังทำงานอยู่ โดยเฉพาะผู้หญิง แต่สิ่งหนึ่งภายใต้นโยบายของไบเดนที่สร้างความกังวลแก่นักลงทุนคือ การขึ้นภาษีบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งสัญญาณร้ายสำหรับตลาดหุ้น ทำให้ตลาดกังวลว่าอาจได้เห็นอัตราภาษีถูกปรับกลับขึ้นไปที่ประมาณราวๆ 28% จากระดับปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 21%

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ผลโพลล่าสุดไบเดนนำทิ้งห่างทรัมป์ค่อนข้างมาก แต่ในแง่ผลการเลือกตั้งจริงที่จะออกมายังคงยากจะคาดเดา แต่เราอาจประเมินสถานการณ์ได้ 3 กรณีด้วยกัน คือ

 

  1. กรณีทรัมป์ชนะแบบ Split Congress คือ เดโมแครตคุมสภาผู้แทน และรีพับลิกันคุมวุฒิสภา แต่เนื่องจากการออกกฎหมายต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายการคลังหรือการใช้จ่ายเงิน จำเป็นต้องผ่านทั้งสามเสาหลัก คือ สภาผู้แทน วุฒิสภา และประธานาธิบดี ทำให้การออกกฎหมายต่างๆ น่าจะทำได้ล่าช้า เกิดการต่อรองระหว่างสองพรรค โดยเราน่าจะได้เห็นนโยบายแบบเดิมๆ ของทรัมป์ยังคงดำเนินต่อไป รวมถึงความแข็งกร้าวทางการค้าและสินค้าเทคโนโลยีต่อจีนในรูปแบบเดิมๆ เพราะนโยบายต่างประเทศอยู่ในอำนาจประธานาธิบดี ไม่ต้องผ่านสภา ทั้งนี้ คาดว่าผลต่อตลาดอาจออกมาในแง่ดี อย่างน้อยก็ในระยะสั้น เพราะความกังวลว่าจะมีการขึ้นภาษีตามนโยบายของไบเดนซึ่งถูก Price-in เข้าไปในราคาหุ้นตอนนี้จะหายไป ดังนั้นคาดว่าตลาดอาจปรับตัวขึ้นทันทีหากผลเลือกตั้งออกมาแนวนี้

 

  1. กรณีเดโมเครติกชนะแบบขาดลอย คือ ได้ทั้งไบเดน สภาผู้แทน และวุฒิสภา ภายในสถานการณ์นี้อาจไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นนักในระยะแรก เพราะการผ่านกฎหมายต่างๆ รวมถึงการขึ้นภาษีจะทำได้ง่าย ส่วนนโยบายการค้ากับจีนน่าจะยังแข็งกร้าว แต่รูปแบบอาจเปลี่ยนไปคือ รักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับมิตรประเทศอื่นๆ ดังนั้น ตลาดในระยะสั้นอาจคลายจากความกังวลเรื่องภาษี และในระยะยาวตลาดน่าจะปรับตัวขึ้นได้ เพราะสงครามการค้าจะจำกัดวงความเสียหายอยู่แค่กับจีน ในขณะที่มิตรประเทศอื่นๆ อาจเห็นความร่วมมือทางการค้ามากขึ้น

 

  1. กรณีไบเดนชนะแบบ Split Congress คือ ไม่สามารถยึดวุฒิสภาได้ อันนี้อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อตลาด เพราะนโยบายขึ้นภาษีที่ต้องผ่านวุฒิสภาของรีพับลิกันอาจทำได้ไม่ง่ายนัก ลดความเสียหายต่อ Earnings ของบริษัทจดทะเบียน ในขณะที่นโยบายสงครามการค้าแบบเจาะจงกับจีน แต่รักษาความสัมพันธ์กับมิตรประเทศอื่นๆ น่าจะส่งผลดีในระยะยาว ซึ่งหากออกมาแนวนี้น่าจะดีกับตลาดหุ้นทั้งในระยะสั้นและยาว

 

ทั้ง 3 กรณีนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน ซึ่งเราก็จะทราบผลกันในไม่ช้า แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งก็จะส่งผลต่อการลงทุนทั้งสิ้น เราจึงควรจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising