การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้ตัดสินกันที่คะแนนดิบจากการโหวตของประชาชนอเมริกัน หรือ Popular Vote โดยตรง แต่เป็นการเลือกผ่านระบบที่เรียกว่า Electoral College (EC) หรือคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งคะแนนเสียง EC จะถูกตัดสินกันด้วยคะแนนดิบในแต่ละรัฐ โดยใช้ระบบ Winner Takes All กล่าวคือ ผู้สมัครคนใดได้คะแนนดิบจากการโหวตจากประชาชนในรัฐนั้นๆ มากกว่า ก็จะได้คะแนน EC จากรัฐนั้นไปทั้งหมด (ยกเว้นที่รัฐเมนและเนแบรสกาที่ให้คะแนน EC แก่ผู้ที่ชนะในแต่ละเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย)
ทั้ง 50 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รวมกันนั้นมีคะแนน EC หรือ Electoral Vote ทั้งหมด 538 เสียง ซึ่งนั่นก็แปลว่าผู้สมัครคนใดได้คะแนน EC ถึง 270 เสียง ก็จะได้รับชัยชนะและได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
ซึ่งระบบการตัดสินหาผู้แพ้-ชนะโดยใช้ระบบ Winner-Take-All นี้ ทำให้ผู้สมัครจากทั้งสองพรรคต่างให้ความสำคัญกับรัฐที่อาจโหวตให้ทั้งพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครต หรือที่เรียกกันว่า Swing State ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีอยู่ 7 รัฐด้วยกัน
รัฐสีแดง-สีน้ำเงิน
ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นมีแนวโน้มจะชนะแน่ๆ ใน 21 รัฐ อันได้แก่ อะแลสกา (3), ไอดาโฮ (4), ยูทาห์ (6), มอนแทนา (4), ไวโอมิง (3), นอร์ทดาโคตา (3), เซาท์ดาโคตา (3), เนแบรสกา เขต 1, 3 และคะแนนรวมรัฐ (4), แคนซัส (6), โอคลาโฮมา (7), ไอโอวา (6), มิสซูรี (10), อาร์คันซอ (6), ลุยเซียนา (8), อินดีแอนา (11), เคนทักกี (8), เทนเนสซี (11), มิสซิสซิปปี (6), แอละแบมา (9) โอไฮโอ (17), เวสต์เวอร์จิเนีย (4) และเซาท์แคโรไลนา (9)
ในขณะเดียวกันทรัมป์ก็น่าจะชนะที่เท็กซัส (40), เมน เขต 2 (1) และฟลอริดา (30) ทำให้เขามีคะแนนเสียงอยู่ในมือแล้ว 219 เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (EC)
สำหรับตัวแทนของพรรคเดโมแครตอย่าง คามาลา แฮร์ริส นั้นจะชนะแน่ๆ ใน 15 รัฐ และเมืองหลวง อันได้แก่ วอชิงตัน (12), ออริกอน (8), แคลิฟอร์เนีย (54), โคโลราโด (10), นิวเม็กซิโก (5), อิลลินอยส์ (19), นิวยอร์ก (28), เวอร์มอนต์ (3), แมสซาชูเซตส์ (11), โรดไอแลนด์ (4), คอนเนตทิคัต (7), นิวเจอร์ซีย์ (14), เดลาแวร์ (3), แมริแลนด์ (10), เมน เขต 1 และคะแนนรวมรัฐ (3), ฮาวาย (4) และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (3)
ในขณะเดียวกันแฮร์ริสก็น่าจะชนะที่มินนิโซตา (10), เนแบรสกา เขต 2 (1), เวอร์จิเนีย (13) และนิวแฮมป์เชอร์ (4) ทำให้เธอมีคะแนนเสียงอยู่ในมือแล้ว 226 เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง
ทรัมป์และแฮร์ริสจะต้องแข่งกันในอีก 7 รัฐที่เหลืออันได้แก่ เนวาดา (6), แอริโซนา (11), วิสคอนซิน (10), มิชิแกน (15), เพนซิลเวเนีย (19), นอร์ทแคโรไลนา (16) และจอร์เจีย (16) เพื่อรวบรวมคะแนนให้ได้ถึง 270 เสียง
ซึ่ง THE STANDARD มองว่าคะแนนเสียงของทั้งสองคนยังสูสีกันมาก และผลการเลือกตั้งใน 7 รัฐยังออกมาได้ทั้งสองหน้า หรือ Toss Up และทำให้ผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนยังคงคู่คี่กันมากและยังบอกไม่ได้ว่าใครได้เปรียบใคร
มีความเป็นไปได้ในระดับต่ำว่าทรัมป์อาจพลิกล็อกแพ้ที่เท็กซัสและฟลอริดา หรือแฮร์ริสพลิกล็อกแพ้ที่มินนิโซตา, เวอร์จิเนีย และนิวแฮมป์เชอร์ แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นทรัมป์หรือแฮร์ริสอาจแพ้ที่ 7 Swing States แบบแลนด์สไลด์ไปเรียบร้อยแล้ว (จนไม่มีทางเก็บคะแนน EC ได้ถึง 270 เสียงไปก่อนหน้านั้นแล้ว)
เขตอุตสาหกรรมหนักที่มิดเวสต์
วิสคอนซิน, มิชิแกน และเพนซิลเวเนีย นั้นถือเป็น Swing State ขนานแท้ที่พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันแข่งกันมาตลอดตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 และก็เป็น 3 รัฐในภูมิภาคมิดเวสต์ที่ทรัมป์ชนะ ฮิลลารี คลินตัน อย่างฉิวเฉียดจนมีคะแนน EC รวมเกิน 270 จนได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45
แต่เดิมนั้น 3 รัฐนี้ค่อนข้างเอนเอียงไปทางเดโมแครต เพราะทั้ง 3 รัฐมีชาวอเมริกันผิวขาวที่เป็นชนชั้นแรงงานและเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก และพรรคเดโมแครตเคยมีภาพของความเป็นพรรคของผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่พรรครีพับลิกันเคยมีภาพของการเป็นพรรคนายทุน
อย่างไรก็ดี ภาพของการเป็นพรรคของผู้ใช้แรงงานของเดโมแครตนั้นกร่อนลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคของ บารัก โอบามา และในปี 2016 ผู้ใช้แรงงานผิวขาวเหล่านี้ก็กลับมาโหวตให้รีพับลิกันอย่างถล่มทลาย เพราะพวกเขานิยมชมชอบทรัมป์ที่นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่ต่อต้านการค้าเสรีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ อันเป็นแหล่งงานของคนผิวขาว รวมถึงนโยบายต่อต้านผู้อพยพที่พวกเขามองว่าจะมาแย่งงานและก่อปัญหาอาชญากรรม
อย่างไรก็ตาม โจ ไบเดน สามารถพลิกกลับมาเอาชนะได้ทั้ง 3 รัฐในปี 2020 ด้วยความที่เขามีภาพลักษณ์ของการเป็นชนชั้นกลางที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นแรงงาน (ไม่เหมือนกับคลินตัน) รวมทั้งเขาสามารถเอาชนะใจคนผิวขาวที่มีการศึกษาในเขตชานเมืองที่เบื่อหน่ายต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของทรัมป์ และความโกลาหลในการบริหารประเทศแบบใช้อารมณ์ของเขา
การเอาชนะที่ 3 รัฐนี้อาจเป็นงานยากสำหรับแฮร์ริส เพราะเธอไม่ได้มีภาพลักษณ์ของการเป็นชนชั้นแรงงานแบบไบเดน นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อในช่วง 4 ปีของรัฐบาลไบเดนก็ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้โหยหาทรัมป์มากขึ้นไปอีก แต่แฮร์ริสก็อาจได้เปรียบในฐานะที่เป็นคนผิวดำ ซึ่งก็อาจทำให้คนผิวสีในเมืองใหญ่ของแต่ละรัฐ (มิลวอกีในรัฐวิสคอนซิน, ดีทรอยต์ในมิชิแกน และฟิลาเดลเฟียในเพนซิลเวเนีย) ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมากกว่ายุคไบเดน
ใต้ใหม่
นอร์ทแคโรไลนาและจอร์เจียนั้นเดิมถือว่าเป็นรัฐสีแดงจัดแบบรัฐทางภาคใต้อื่นๆ ที่มีความอนุรักษนิยมแบบเคร่งศาสนาและโหวตให้พรรครีพับลิกันมาตลอด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา มหานครของทั้ง 2 รัฐนี้ได้ขยายตัวขึ้นอย่างมาก ในกรณีของจอร์เจียคือการเติบโตของเมืองแอตแลนตา ทั้งด้วยประชากรคนผิวสีที่เพิ่มขึ้น และคนขาวเสรีนิยมที่อพยพจากเมืองใหญ่อื่นๆ มาหางานทำ (เพราะแอตแลนตาเป็นเมืองเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ภาคการเงิน เทคโนโลยี การศึกษา และการแพทย์ เติบโตอย่างมากในฐานะศูนย์กลางของภาคใต้) จึงทำให้ Landscape การเลือกตั้งแปรเปลี่ยนไป
ในส่วนของนอร์ทแคโรไลนานั้นเกิดจาก 3 เมืองที่อยู่ใกล้กัน ได้แก่ ราลี เดอแรม และแชเปิล ฮิลล์ เป็นเมืองที่มีสถานศึกษา สถานวิจัย และโรงพยาบาล ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อย่างเช่น Duke University และ University of North Carolina เป็นตัวดึงดูดคนขาวที่มีแนวคิดเสรีนิยมให้มาทำงาน นอกจากนี้เมืองชาร์ลอตต์ก็มีประชากรคนผิวสีขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย
นอร์ทแคโรไลนาโหวตให้พรรคเดโมแครต 1 ครั้งในปี 2008 ส่วนจอร์เจียเพิ่งเคยโหวตให้พรรคเดโมแครตเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
ในช่วงต้นปีตอนที่ไบเดนยังเป็นผู้แทนพรรคอยู่นั้น ดูเหมือนว่าทรัมป์มีแนวโน้มที่จะชนะทั้งที่นอร์ทแคโรไลนาและจอร์เจียอย่างสบายๆ เพราะคะแนนของไบเดนในหมู่ชาวผิวสีตกต่ำลงอย่างมาก แต่เมื่อพรรคเดโมแครตเลือกแฮร์ริสมาเป็นผู้แทนพรรคคนใหม่ คะแนนนิยมของเธอในทั้ง 2 รัฐก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเธอเป็นคนผิวสีนั่นเอง
เสียงของฮิสแปนิก
เนวาดาและแอริโซนาถือเป็น 2 รัฐที่มีประชากรชาวฮิสแปนิกจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ไบเดนสามารถชนะที่ 2 รัฐได้ในปี 2020 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกจำนวนมากไม่พอใจทรัมป์อย่างมากที่ออกมาพูดดูถูกตนตลอดเวลา รวมทั้งนโยบายกีดกันการอพยพของเขา อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมของไบเดนในหมู่ชาวฮิสแปนิกตกต่ำลงอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ดูเหมือนจะกระทบกับชาวอเมริกันกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ (ชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกมักเป็นชนชั้นแรงงาน ทำให้อ่อนไหวกับปัญหาสินค้าราคาแพงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ) และปัญหาการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายที่คนใน 2 รัฐนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง (ด้วยความเป็นรัฐใกล้ประเทศเม็กซิโก)
คล้ายกับกรณีของนอร์ทแคโรไลนาและจอร์เจีย ในช่วงต้นปีตอนที่ไบเดนยังเป็นผู้แทนพรรคอยู่นั้น ดูเหมือนว่าทรัมป์น่าจะชนะทั้งที่เนวาดาและแอริโซนาอย่างสบายๆ แต่เมื่อพรรคเดโมแครตเลือกแฮร์ริสมาเป็นผู้แทนพรรคคนใหม่ ดูเหมือนว่าชาวฮิสแปนิกจะไม่ได้โทษว่าเธอเป็นตัวก่อปัญหาแบบไบเดน และคะแนนของพรรคก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ณ ตอนนี้ THE STANDARD ยังให้ทั้ง 7 รัฐเป็น Toss Up อยู่ ซึ่งอาจออกได้ทั้งหัวหรือก้อย อย่างไรก็ตาม หากผลโพลเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะมาวิเคราะห์กันอีกครั้ง และจะอัปเดตข้อมูลให้ผู้อ่านทราบต่อไป